ตอนที่ 21 ยาที่ใช้ได้และควรงดเมื่อให้นมแม่

view 13,236

ยาเมื่อใช้แล้วควรงดนมแม่ชั่วคราว ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) สารกัมมันตรังสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉายแสงหรือฉีดก็ตาม และยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ (ยารายการสุดท้ายนี้จะทำให้ลูกมีอาการง่วงซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เชื่องช้าและสติปัญญาด้อยลงได้ค่ะ) รวมทั้งยาลดกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งสะสมในน้ำนมได้และไม่ควรใช้คือไซเมทีดีน (Cimetidine) และรานิทิดีน (Ranitidine) เพราะอาจก่อพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางลูกได้

ยาที่ใช้ได้ระหว่างให้นมลูก ได้แก่ ยาทั่วไปที่ใช้รักษาอาการต่างๆ และโรคทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นขณะที่คุณแม่ยังต้องให้นมลูกอยู่ ยาที่ใช้บ่อยๆ มีดังนี้

  1. ยาแก้หวัด ยกเว้นยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ซีสตามีน เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เพราะจะทำให้ลูกร้องกวนนอนไม่หลับ ถ้าคัดจมูกควรใช้ยาทาหรือเช็ดจมูกให้โล่งดีกว่ายารับประทาน และควรหลีกเลี่ยงยาผสมที่มีตัวยาหลายๆ อย่างในเม็ดเดียวกันหรือที่ออกฤทธิ์นานๆ เพราะจะส่งผลต่อลูกเป็นเวลานานด้วย 
  2. ยาแก้ปวด ยาที่ใช้แก้ปวดได้ดีในคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมคือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofon) กรดมีเฟนามิก (Mefenamic Acid) ไดโคลฟิแนก (Diclofenec)
  3. ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) กลุ่มที่ใช้ได้คือ กลุ่มเพนนิลซิลลิน (Penicillin) ยารักษาวัณโรค กลุ่มยารักษามาเลเรีย ที่ไม่ควรใช้คือ ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
  4. ยาระบาย ที่ใช้ได้โดยไม่มีอันตรายต่อลูก คือยาที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำ เพิ่มกากอาหารและยาระบายมิลค์ออฟแมกนีเซีย (M.O.M.) ส่วนที่ไม่ควรใช้คือยาระบายมะขามแขก
  5. ยาลดกรด รักษาแผลในกระเพาะ ควรใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม เพราะซึมผ่านน้ำนมได้น้อย คุณแม่จึงใช้ได้อย่างสบายใจ ส่วนยารักษาแผลในกระเพาะแนะนำให้ใช้ซูคราลเฟต (Sucrafate) ซึ่งซึมผ่านไปยังน้ำนมได้น้อย
  6. ยาคุมกำเนิด หากจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ควรเลือกสูตรที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำ โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เนื่องจากฮอร์โมนนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำนม ดังนั้นหากจะคุมกำเนิดในช่วงที่ให้นมลูก ขอแนะนำให้ใช้วิธีธรรมชาติหรือสวมถุงยางอนามัยค่ะ

(Tips) มีหลักง่ายๆ ให้คุณแม่พิจารณาการใช้ยาในระหว่างให้นมลูกคือ

  •  ควรหลีกเลี่ยงยาที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน
  •  ควรรับประทานยาทันทีหลังให้นมลูกเสร็จ เพื่อให้ระยะเวลาการรับยา ห่างจากการให้นมครั้งถัดไปนานที่สุด
  • คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูก เช่น นอนหลับปกติไหม มีผดผื่นขึ้นหรือเปล่า หรือมีอาการผิดปกติอย่างไรเพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

วิตามินกับการให้นมลูก

สำหรับวิตามินต่างๆ ที่คุณแม่รับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อลูก นอกจากผลกระทบต่อคุณแม่โดยตรงหากรับประทานไม่ถูกต้อง โดยปกติในน้ำนมแม่จะมีแร่ธาตุหลักๆ เช่น แคลเซียม, แมกนีเซียม, โซเดียม, โปแตสเซียม, ฟอสเฟต และคลอไรด์ อยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกอยู่แล้ว ยกเว้นลูกที่คลอดก่อนกำหนดจะต้องการแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากขึ้น คุณแม่อาจต้องรับประทานแร่ธาตุทั้งสองเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุนี้ในน้ำนมหรือเลือกให้แร่ธาตุทั้งสองแก่ลูกน้อยโดยตรง

 

"นมแม่ ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย มี้ด จอห์นสัน สนับสนุนการให้นมบุตรมากที่สุดและนานที่สุด", ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaibreastfeeding.org

https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%2021%20%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88