น้ำคร่ำคืออะไร? สำคัญอย่างไร?
view 5,483
น้ำคร่ำคือ น้ำที่อยู่ในมดลูกของคุณแม่นั่นเอง ทารกในครรภ์นั้นจะเจริญเติบโตและลอยอยู่ภายในน้ำคร่ำ ซึ่งจะอยู่ในถุงน้ำคร่ำอีกทีหนึ่ง โดยจะมีการสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และน้ำคร่ำในแต่ละช่วงจะมีที่มาแตกต่างกันไป ช่วงท้องเดือนแรกๆ น้ำคร่ำคือน้ำที่สร้างมาจากเลือดคุณแม่ เป็นน้ำสีใสๆ พอช่วงเดือนที่ 3-4 น้ำคร่ำจะมาจากน้ำที่ซึมผ่านผิวหนังของลูก และในช่วงเดือนที่ 4-5 เป็นต้นไป ไตของลูกน้อยทำงานได้ดีขึ้น ลูกก็จะสามารถฉี่ออกมาได้ น้ำคร่ำจะมาจากปัสสาวะหรือฉี่ของลูกนั่นเอง
องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำคร่ำคือน้ำ 98% และส่วนที่เป็นของแข็ง 2% ประกอบด้วยสารต่างๆ เช่น โปรตีน กรดยูริค สารยูเรีย รวมทั้งขี้ไคลของทารก ขนอ่อน เส้นผม และปัสสาวะของทารกด้วย โดยปกติน้ำคร่ำไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนน้ำที่นิ่ง แต่ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา เพราะลูกที่ลอยไปมาในน้ำคร่ำจะกินน้ำคร่ำเข้าไปแล้วฉี่ออกมากลายเป็นน้ำคร่ำอีก นอกจากจะกินแล้วลูกยังเริ่มหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอดไปอีกด้วย แม้ในน้ำคร่ำจะไม่มีอากาศ และลูกในครรภ์รับอากาศจากทางสายสะดือก็ตาม แต่ลูกจะซ้อมหายใจให้ปอดทำงานไว้ก่อน โดยน้ำคร่ำจะไปดันให้ปอดขยาย ช่วยให้ปอดเจริญเติบโตได้ดี
น้ำคร่ำมีผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูกในเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อ คือเมื่อมีน้ำคร่ำลูกก็มีที่ในการขยับขาแขน พัฒนากล้ามเนื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ น้ำคร่ำยังเป็นแหล่งระบายของเสีย เป็นแหล่งให้อาหาร รวมทั้งยังปรับอุณหภูมิในมดลูกให้เหมาะสมกับทารก ที่สำคัญน้ำคร่ำยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันอันตราย เป็นกันชนกันกระแทกให้กับลูกของเราด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีน้ำคร่ำมากเกินไป จะทำให้มดลูกถูกดันจากแรงดันภายในให้ยืดขยายออกไปมากกว่าปกติ ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก บางคนมดลูกที่โตมากไปกดหลอดเลือดในช่องท้อง ทำให้เลือดที่ไหลเวียนจากส่วนล่างของร่างกายกลับไปยังหัวใจไม่สะดวก ทำให้มีอาการบวมที่เท้าหรือบริเวณปากช่องคลอด แต่หากมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกินไป จะทำให้ทารกถูกบีบให้อยู่ในที่แคบ ผนังทรวงอกของทารกจะถูกกด ทำให้ขยายไม่ออกและเจริญเติบโตต่อไปไม่ได้ ผลคือทำให้ระบบการหายใจของทารกบกพร่อง และเสี่ยงต่อชีวิตภายหลังคลอด
น้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงตัวทารกในครรภ์จึงไม่ใช่เพียงแค่น้ำธรรมดาๆ ค่ะ