พัฒนาการของเด็ก: น้ำหนักตัวทารกมาก-น้อยต่างกันเพราะเหตุใด?
view 8,955
การที่ทารกแต่ละคนมีน้ำหนักตัวแตกต่างกันนั้น มาจากสาเหตุหลักๆ คือ..
- พันธุกรรม รูปร่างของพ่อและแม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ลูกก็จะเติบโตเร็ว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัวเล็ก ลูกก็จะตัวเล็กกว่าเด็กคนอื่นในช่วงอายุเดียวกันได้
- ความเจ็บป่วย บางครั้งน้ำหนักตัวของเด็กอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ เนื่องจากความเจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้เช่นกัน
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลกระทบต่อน้ำหนักตัวเด็กที่ลดลงในระยะยาว เมื่ออายุครบ 1 ปีไปแล้ว การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมที่ว่านี้ก็เช่น เริ่มอาหารเสริมเร็วหรือช้ากว่าวัย หรือไม่ส่งเสริมให้เด็กมีวินัยในการกินที่ดี เป็นต้น
สำหรับการดูแลและแก้ไขปัญหาเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยการเข้าตู้อบ ซึ่งจะช่วยควบคุมรักษาระดับอุณหภูมิ ความชื้น รวมถึงออกซิเจนภายในร่างกายของทารกเพื่อรอจนกว่าทารกจะสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีขึ้น และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ เมื่อกลับไปอยู่บ้าน หากทารกน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็ก แต่สามารถกินนมแม่ได้ตามปกติ คุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะลูกจะแข็งแรง เนื่องจากได้ภูมิคุ้มที่ดีจากน้ำนมแม่ แต่ถ้าลูกไม่สามารถกินนมแม่ได้ ก็อาจต้องได้รับนมสูตรพิเศษที่มีความเข้มข้นกว่านมผสมทั่วไป ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ด้วยเช่นกัน ส่วนในกรณีที่ลูกน้ำหนักลดเพราะความเจ็บป่วย เมื่อหายป่วยแล้ว ควรเพิ่มปริมาณนมให้เพียงพอเพื่อทดแทนช่วงที่ลูกกินไม่ได้ตอนไม่สบาย |
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว เด็กทารกทุกคนจะโตตามน้ำหนักตัวที่มีมาแต่แรกเกิด หากไม่มีปัญหาเจ็บป่วยใดๆ และเมื่อหลัง 2 ปี น้ำหนักตัวจะเท่ากับเด็กช่วงวัยเดียวกันค่ะ