ปัญหาการกินของลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ

view 6,786

ลูกวัยนี้ต้องเปลี่ยนจากการกินนมเป็นอาหารหลัก มาเป็นอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน ลูกควรได้รับอาหารที่ปลอดภัย ย่อยง่าย เคี้ยวง่าย รสไม่จัด สีสันน่ากิน มีปริมาณพอเหมาะกับความต้องการ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา หมู กุ้ง ไก่ โดยให้สลับกันแต่ละมื้อ อาจให้เต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ร่วมกับอาหารเนื้อสัตว์ ผักใบสีเขียว เช่น ตำลึง คะน้า ผักสีเหลือง เช่น ฟักทอง หรือสีแดง เช่น มะเขือเทศ ซึ่งจะช่วยการขับถ่ายได้ ไม่เกิดปัญหาท้องผูก และอาหารที่ลูกวัยนี้ควรได้รับทุกวันคือ ไข่และนม โดยเฉพาะนมที่มีสารอาหารครบถ้วน เช่น ดีเอชเอ และโคลีนที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมอง รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าเด็กในช่วงอายุ 1-3 ขวบ ประมาณ 45 % มีปัญหากินยากหรือเลือกกิน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านต่างๆของลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามแก้ไขให้ลุล่วงไปได้

เมื่อลูกกินยาก & เลือกกิน
ในวัยเตาะแตะ ลูกน้อยจะกินยากและช่างเลือกอาหารมากขึ้น เขาจะจิ้มๆ เขี่ยๆ อาหารเล่น ไม่ค่อยอยากกินอาจจะด้วยห่วงเล่นมากกว่า (เพราะโลกรอบตัวช่างน่าตื่นเต้นไปซะทั้งหมด)

แนวทางแก้ไข...

  • จัดบรรยากาศให้สนุก สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งคุณแม่มีเวลาว่าง และไม่เหนื่อยจากการทำงาน การหากิจกรรมในระหว่างมื้ออาหารเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากกินได้ทางหนึ่ง เช่น เล่นเกมทายปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่กิน (เช่น บอกชื่อผักผลไม้ที่มีสีแดง สีส้ม ) เล่นเกมเก้าอี้ดนตรีก่อนกิน พยายามทำให้การกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นเรื่องสนุกสนาน ไม่ควรดุ เตือน หรือตั้งใจสอน เอาผิด คาดโทษ หรือวิพากษ์วิจารณ์ลูกในขณะนั้น
  • กำหนดช่วงเวลามื้ออาหารไว้ เช่น อาหารเช้าประมาณ 20-30 นาที อาหารเย็นประมาณ 30-40 นาที หากลูกเล่นอาหาร ขว้างปาช้อนหรือถ้วย อมข้าว หรือกินช้าจนเลยเวลาที่กำหนด ให้เก็บอาหาร ซึ่งคุณแม่ต้องใจแข็ง และไม่ควรให้อาหารอื่นกับลูกเลยระหว่างมื้อ เมื่อถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป ลูกจะกินอาหารได้มากขึ้น
  • จัดแต่งอาหารให้มีสีสันน่ากิน ตั้งชื่อให้น่าสนใจ เช่น ข้าวผัดสายรุ้ง ผัดผักสี่สหาย เรือมะละกอ (มะละกอผ่า ¼) ดาบแครอต (แครอตต้มหั่นเป็นแนวยาว) ฯลฯ และปริมาณที่ตักในครั้งหนึ่งๆ ไม่มากจนเกินไป
  • ใช้ภาชนะที่ลูกใช้สะดวก เช่น ภาชนะที่มีขอบสูง เวลาลูกใช้ช้อนตัก จะได้ไม่หกง่าย และไม่แตกง่าย ส่วนช้อนต้องมีด้ามยาวพอให้เด็กถือได้ ให้ลูกนั่งบนเก้าอี้เด็กที่ขนาดพอเหมาะ เด็กๆ มักไม่ชอบเก้าอี้ที่นั่งห้อยขาแล้วเท้าแตะไม่ถึงพื้น
  • ไม่ควรขู่หรือบังคับให้ลูกกินสิ่งที่ไม่ชอบ หรือบังคับให้กินให้หมดจานทั้งๆ ที่ลูกอิ่มแล้ว เพราะจะทำให้เขารู้สึกไม่ดีต่อการกิน
  • เลี่ยงอาหารซ้ำๆ ไม่ควรให้ลูกกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารบางอย่างไม่ครบและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่าง กายลูก เช่น มื้อเช้าอาจจะเป็นข้าว ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมปัง ไม่จะเป็นต้องเป็นข้าวต้มอย่างเดียว
  • ให้หยิบกินเองบ้าง คุณแม่อาจจัดของว่างและอาหารไว้บนชั้นตู้เย็นในระดับเดียวกับส่วนสูงของลูก เมื่อไหร่ที่ลูกต้องการกินอาหาร ก็สามารถเปิดตู้เย็นหยิบเองได้

ฟันแข็งแรง เพื่อช่วยขบเคี้ยวอาหาร

  • เด็กวัย 1 ปี จะมีฟันหน้า 6-8 ซี่ เด็กจึงกัดและเริ่มฉีกอาหารได้ แต่ฟันเคี้ยวคือฟันกรามยังไม่ขึ้น เด็กวัยนี้จึงยังใช้เหงือกในการบดอาหารเคี้ยวอาหาร
  • พอลูกย่างเข้าปีที่ 2 จะมีฟันกราม เด็กจึงสามารถเคี้ยวอาหารชิ้นโตและเหนียวขึ้นได้ (แต่ยังเป็นฟันกรามของฟันน้ำนมอยู่ )
  • เมื่อเด็กมีฟันกรามจำนวนหลายซี่ ก็จะเคี้ยวและกลืนอาหารได้ อย่างไรก็ตาม การให้อาหารเด็กเล็กต้องระมัดระวัง ถ้าเด็กยังเคี้ยวและกลืนไม่เก่ง อาจจะสำลักได้ พ่อแม่จึงต้องเฝ้าดูลูกด้วย
https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%201-3%20%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%9A