ฝึกเจ้าหนูนั่งกระโถน
view 6,485
การฝึกนั่งกระโถนเป็นการเรียนรู้ของเจ้าหนูอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างจากการเรียนรู้ที่จะปีนป่าย หัดเดิน พูดคุย เพราะเป็นความสามารถที่เด็กจะพัฒนาไปทีละขั้น แต่ก่อนที่จะฝึกให้ลูกน้อยใช้กระโถนนั้น คุณแม่ต้องสังเกตดูก่อน ว่าลูกมีท่าทีเปิดใจรับหรือยัง การไปบังคับขืนใจให้ลูกใช้กระโถน จะทำให้เด็กต่อต้าน และยิ่งทำให้การฝึกฝนยืดเยื้อออกไปอีกค่ะ เทคนิคที่จะให้หัดเจ้าหนูนั่งกระโถน เพื่อฝึกขับถ่ายนั้นไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากแน่ๆ ลองมาดูสิว่ามีเทคนิคไหนบ้าง ที่คุณแม่จะหัดให้ลูกรักนั่งกระโถนได้
- คุณแม่ลองวางกระโถนไว้ในห้องน้ำ และบอกให้หนูรู้ว่ากระโถนนี้มีไว้เพื่อทำอะไร ถ้าหากมีลูกที่โตกว่าและกำลังใช้กระโถนนี้ก็จะเป็นตัวอย่างและเป็นประโยชน์ในการฝึกของลูกได้มากเลยค่ะ
- ถ้าลูกถ่ายอุจจาระเป็นเวลาในแต่ละวัน คุณแม่อาจจะถอดผ้าอ้อมลูกออก แล้วแนะนำให้ลูกลองไปถ่ายในกระโถนดูบ้าง ถ้าลูกทำท่าไม่ชอบใจ หรือหงุดหงิดที่จะถ่ายในกระโถน ก็ให้ใส่ผ้าอ้อมตามเดิม และลองพยายามใหม่ในครั้งหน้าค่ะ
- สอนให้ลูกรู้ว่าการปัสสาวะ หรืออุจจาระนั้นคืออะไร คุณแม่ควรบอกเขาว่าเวลาที่ผู้ใหญ่ หรือเด็กที่โตแล้วเกิดอยากปัสสาวะหรืออุจจาระขึ้นมา เขาทำอย่างไรกัน
- คุณแม่อาจเริ่มสอนให้หนูคุ้นเคยกับกระโถน โดยการจับเขานั่งกระโถนแล้วประคองไว้อย่างนั้น จนถ่ายอุจจาระออกมาเรียบร้อยแล้ว ให้ทำอย่างนี้ไปสักประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกจะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเขากินนมไปประมาณ 10-15 นาที เขาต้องถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
- ระหว่างนั่งกระโถน คุณแม่อาจจะพูดว่า ฉี่..ฉี่... หรือ อึ..อึ... ตามไปด้วย เมื่อหนูเสร็จกิจ ก็ชมเชยหนูสักหน่อย ว่าลูกเก่งจังเลยนะจ๊ะ ก็จะเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับลูกค่ะ
- ถ้าคุณแม่สังเกตเห็นเจ้าหนูหน้าเบ้หรือหยุดเล่นชั่วคราวที่แสดงให้เห็นว่าเขาอยากจะถ่ายแล้ว คุณแม่ควรถามลูกตรงๆ ว่าตอนนี้หนูปวดฉี่หรือเปล่าจ๊ะ ลูกก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า เมื่อเขาอยากถ่าย จะต้องบอกก่อนทุกครั้ง
แม้ว่าการฝึกให้เจ้าหนูนั่งกระโถนนั้ น คุณแม่จะต้องอาศัยความอดทนอย่างสูงก็ตาม แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่ควรใส่อารมณ์ วิจารณ์ ต่อว่า ประชดประชัน หรือลงโทษลูกเวลาที่ลูกถ่ายโดยไม่บอกก่อนอย่างเด็ดขาด เจ้าตัวเล็กพยายามแล้ว แต่ในวัยนี้ลูกยังไม่สามารถอั้นได้เท่าผู้ใหญ่ค่ะ และที่สำคัญต้องไม่ลืมให้คำชมเวลาที่ลูกทำได้ เพราะการขับถ่ายของเจ้าหนูนั้นต้องอาศัยทักษะหลายด้านประกอบกัน ทั้งการรับรู้ร่างกาย สมาธิ การประสานการทำงานด้านต่างๆ การควบคุมกล้ามเนื้อ และการรู้จังหวะที่เหมาะสมค่ะ