ภาษา (กาย) ช่วยพัฒนาอารมณ์ลูก
view 3,944
ลูกน้อยของคุณแม่จะมีรอยยิ้มที่เป็นยิ้มจริงๆ ครั้งแรกเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 คุณแม่หลายท่านอาจจะบอกว่าลูกของตนรู้จักยิ้มก่อนหน้านั้นแล้ว แต่นักจิตวิทยาเชื่อว่า การยิ้มในช่วงก่อน 6 สัปดาห์แรกที่คุณพ่อคุณแม่เห็นนั้น เป็นเพียงการเคลื่อนไหวอัตโนมัติของกล้ามเนื้อใบหน้า ยังไม่ใช่การยิ้มอย่างตั้งใจค่ะ
อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะมีความจำเป็นต่อพัฒนาการทางอารมณ์ด้านบวกของลูกเป็นอย่างมาก โดยเด็กจะมีอารมณ์ขันที่เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของช่วงวัย เช่น
* อายุ 3 เดือน คุณแม่จะเริ่มเห็นว่าลูกจะหัวเราะกับเรื่องที่คุ้นเคยและการถูกสัมผัสผิวเบาๆ เช่น เมื่อคุณแม่เอาจมูกของคุณไปดุนที่หน้าท้องของลูก หรือเป่าลมผ่านแขนของลูกเบาๆ เขาก็จะยิ้มและหัวเราะคิกคักขึ้นมาได้
* อายุ 6 เดือน ลูกจะชอบกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนลำตัว ซึ่งจะกระตุ้นอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะของเด็กวัยนี้ เช่น การเล่นจั๊กจี้ที่รักแร้ หรือข้างเอว จะทำให้ลูกบิดตัวไปมาด้วยเสียงหัวเราะค่ะ
อารมณ์ขันจะตลกที่สุดเมื่อมันเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้พยายามประดิษฐ์หรือแกล้งทำ คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าเวลาที่รู้สึกผ่อนคลายจะพบว่าเสียงหัวเราะมักเกิดขึ้นได้เองง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายาม คุณแม่กับลูกมักจะมีเรื่องให้หัวเราะได้มากมาย เพราะลูกจะคิดว่านั่นแม่หัวเราะอีกแล้ว หนูก็จะหัวเราะด้วย ลูกน้อยชอบอารมณ์ขันที่แสดงออกง่ายๆ อย่างชัดเจน ไม่ซับซ้อน เด็กเล็กๆ มักจะหัวเราะกับเรื่องตลกที่เห็นภาพและท่าทางค่ะ เพียงแค่คุณแม่ทำหน้าตาตลกๆ แปลกๆ ให้ลูกเห็นเขาก็จะรู้สึกขำและหัวเราะได้แล้วค่ะ นอกจากลูกจะรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับคุณแม่ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นค่ะ