รสชาติอาหาร....กระตุ้นพัฒนาการเด็กในครรภ์อย่างไร
view 6,401
ลูกน้อยในครรภ์จะกลืนน้ำคร่ำรอบๆ ตัวเขา ซึ่งน้ำคร่ำนั้นก็มาจากอาหารที่คุณแม่รับประทานนั่นเอง การกลืนน้ำคร่ำจะเป็นการกระตุ้นให้ปุ่มรับรสในลิ้นเกิดการพัฒนา นอกจากนี้เด็กยังชอบดูดนิ้ว ซึ่งเป็นการกระตุ้นประสาทการรับรส ทั้งยังเป็นพัฒนาการที่ผสมผสานระหว่างการมองและการรับรส รวมทั้งการเคลื่อนไหวของมือเข้าด้วยกัน เพราะทารกจะเอามือ เข้าปาก ต้องอาศัยการมองและการเคลื่อนไหวของมือ หลังคลอดทารกจึงดูดนมได้ทันที
ประสาทการรับรสของเด็กในครรภ์จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์แล้ว ต่อมรับรสของลูกพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่ออายุ 6 เดือน เขาจะสามารถแยกรสหวานกับรสเปรี้ยวได้ แต่พบว่ารสชาติที่ลูกชอบมากที่สุดคือ รสหวาน โดยมีการศึกษาพบว่าเมื่อใส่สารที่ทำให้มีรสหวานในน้ำคร่ำ ทารกจะมีอัตราการกลืนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่หากใส่สารที่มีรสเปรี้ยวลงในน้ำคร่ำ ทารกจะมีการกลืนช้าลง ส่วนรสชาติที่ทารกน้อยในครรภ์หน้าเบ้ทุกครั้งคือ รสเผ็ด ดังนั้นคุณแม่จึงควรเลือกรับประทานอาหารด้วย |
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งได้ทดลองแบ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ให้คุณแม่ดื่มน้ำบร็อกโคลี กลุ่มที่ 2 ดื่มน้ำแครอต และกลุ่มที่ 3 ดื่มน้ำเปล่าทุกวัน หลังจากนั้นก็ตามดูว่า เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว พฤติกรรมการกินอาหารเหลวครั้งแรกของเด็กๆ เป็นอย่างไร พบว่าเด็กๆ จะกินอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำผักที่แม่เคยดื่มระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าอาหารอื่น ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า การกินอาหารของแม่ขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของลูกหลังคลอด ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกติดรสหวาน ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ก็ไม่ควรกินอาหารรสหวานมาก แม้ว่าลูกในครรภ์จะชอบก็ตาม แต่ควรกินอาหารที่มีรสชาติกลางๆ หรือรสอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ลูกติดรสชาติใดรสชาติหนึ่ง โดยเฉพาะรสหวานเมื่อคลอดออกมาค่ะ