มีการศึกษาพบว่า พัฒนาการทางภาษาของทารกนั้น เริ่มต้นด้วยการที่ทารกร้องไห้ และใช้ท่าทางและสุ้มเสียงต่างๆ กัน การที่เด็กจะพัฒนาจนพูดได้นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมทางกายและระบบประสาทของทารก โดยขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาของลูกวัยแรกเกิด–6 เดือน มีดังนี้
|
- ระยะเปล่งเสียงจากคอ อยู่ในช่วงวัยแรกเกิด-3 เดือน โดยลูกจะค้นพบว่าเขาสามารถส่งเสียงได้ โดยการใช้ลิ้นดุนหรือดันไปที่ริมฝีปากให้เปิดออก จากนั้นก็ปิดริมฝีปากลงใหม่ได้ อาจมีน้ำลายไหลออกมาจากปากบ้าง คล้ายๆ กับการพ่นน้ำลายออกมา แต่นี่คือการหัดส่งเสียง หรือพยายามจะพูดของเด็ก แต่อาจจะไม่มีเสียงหรือคำพูดออกมาให้ได้ยิน เพราะลูกยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการฝึกฝนการพ่นลมหรือพ่นน้ำลายนั้นออกมาเป็นเสียง ซึ่งเด็กที่มีปัญหาการได้ยินก็ส่งเสียงนี้ได้
- ระยะออกเสียงอ้อแอ้ อยู่ในช่วงอายุ 3-5 เดือน ทารกมักจะหัวเราะและเล่นปนกันไปกับการออกเสียง จนสามารถออกมาเป็นสระ เช่น อา... หรืออู...ได้
- ระยะเริ่มเลียนเสียง อยู่ในช่วงอายุ อายุ 5-6 เดือน เด็กชอบออกเสียงซ้ำๆ กัน พอใจในการออกเสียง ช่วงที่ลูกน้อยฝึกพูดเหมือนบ่นพึมพำอะไรอยู่คนเดียว ตอนนี้ลูกน้อยพบว่าตัวเองเริ่มส่งเสียงออกมาเป็นเสียงได้หลายเสียงแล้ว มีทั้งอา...อู...อือ...และลูกกำลังสนุกกับการออกเสียงเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจฟังดูเหมือนเป็นประโยคยาวๆ แต่ยังจับความอะไรไม่ได้ เพราะว่าคำที่ออกมายังไม่ได้เป็นคำที่มีความหมายหรือตรงกับคำพูดใดๆ ซึ่งเด็กหูหนวกจะไม่มีพัฒนาการในขั้นนี้
|
แม้ลูกจะยังเล็ก ยังพูดไม่ได้ แต่คุณแม่ก็สามารถมองหนาเขาแล้วชวนเขาพูดคุย พยักเพยิดกับเขาได้แล้วค่ะ ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนในเปลตามลำพังโดยที่ไม่มีใครมาพูดคุยเล่นกับเขาเลย เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาของลูกได้