กรดไหลย้อน...เจ้าตัวเล็กก็เป็นได้
view 3,537
กรดไหลย้อนในทารกคือ ภาวะที่กรดในกระเพาะไหลย้อนมาในหลอดอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่เปิดให้อาหารลงสู่กระเพาะอาหาร และปิดเมื่อกินอาหารเสร็จยังไม่แข็งแรง เมื่อลูกอิ่มนมเสร็จแล้วหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารปิดไม่สนิท จึงทำให้นมหรืออาหาร รวมทั้งกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งคุณแม่จะทราบได้จากการที่ลูกมีอาการแหวะนม ซึ่งปกติอาจจะมีการแหวะนมเพียงนิดหน่อย คุณแม่ก็คงไม่ต้องกังวล แต่หากว่าลูกน้อยมีอาการแหวะนมที่ผิดปกติ เช่น แหวะนมออกมาเยอะมากหรือแหวะนมบ่อย อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนได้ค่ะ
นอกจากนี้ยังมีภาวะกรดไหลย้อน ที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้จากการแหวะนม เช่น ปอดอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ, การไอเรื้อรัง, ไอเสียงดังหรือหายใจเสียงดังมาก ๆ แหวะนมหรืออาเจียนบ่อยและรุนแรง รวมถึงเจ้าตัวเล็กปฏิเสธการป้อนนมหรืออาหาร แสดงความรู้สึกหงุดหงิดง่ายหรือร้องกวนมากกว่าปกติ มักจะเป็นหลังการป้อนนมหรืออาหาร นอกจากนี้ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เลือดจาง อาเจียน เป็นเลือด เสียงแหบ ปอดติดเชื้อบ่อย ๆ หรือหอบหืด โดยที่ไม่มีอาการแหวะนมเลย หากลูกมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ ควรปรึกษาคุณหมอโรคทางเดินอาหาร เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องต่อไปค่ะ คุณแม่สามารถป้องกันกรดไหลย้อนของเจ้าตัวเล็กได้ โดยให้นมมื้อละน้อยแต่บ่อยขึ้น และปรับท่าการให้นมลูก คือต้องยกหัวให้สูงขึ้นกว่าปกติ โดยต้องอุ้มลูกเรอทุกครั้งหลังกินนมจะช่วยลดภาวะกรดไหลย้อนได้ และให้ลูกนอนหัวสูงสัก 15-30 องศา และตะแคงซ้าย เพราะกระเพาะอาหารอยู่ค่อนทางซ้ายจะได้อยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร เพื่อกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ โดยใช้หมอนยันตัวลูกไว้ไม่ให้พลิกมานอนหงาย ที่สำคัญคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น หอบหืด ไอเสียงดัง ไอเรื้อรัง หรือว่ามีปอดอักเสบบ่อย ๆ ด้วยนะคะ |