การดูแลฟันของลูกวัยเตาะแตะ
view 5,664
เด็กในวัย 1-3 ปีควรดูแลฟันด้วยการแปรงฟันให้อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ คุณแม่ควรเป็นผู้แปรงให้เด็กในวัยนี้ เนื่องจากเด็กยังมีทักษะในการแปรงฟันยังไม่ดีพอ ท่าในการแปรงฟันก็คือคุณแม่ยืนอยู่ด้านหลังของลูก ให้ลูกเงยหน้าขึ้นในขณะที่แปรงฟัน วิธีแปรงคือแปรงขวางๆ ขยับแปรงสั้นๆ ให้แปรงทุกด้านของตัวฟันคือ ด้านข้างแก้ม ด้านบดเคี้ยว ด้านเพดานหรือด้านลิ้น ขนาดยาสีฟันประมาณเม็ดถั่วเขียว
สิ่งที่สำคัญในการดูแลฟันคือการควบคุมไม่ให้เด็กกินจุบจิบ หลีกเลี่ยงขนมหวาน หรือขนมที่มีลักษณะเหนียว ควรกินผลไม้ และดื่มนมในมื้ออาหารว่าง ที่สำคัญเด็กวัยนี้ควรพาไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีฟันผุหรือไม่และรับ การเคลือบฟลูออไรด์ค่ะ
ครอบฟันรักษาฟันผุของลูก หากฟันน้ำนมโดยเฉพาะฟันกรามของลูกเกิดการผุ หากเป็นหลุมเล็กๆ การอุดฟันธรรมดาก็สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าผุเป็นหลุมใหญ่ลึกถึงโพรงประสาทฟัน ก็ต้องมีการรักษารากฟันก่อน ถ้าอุดไปโดยไม่รักษารากฟันในฟันที่ผุถึงโพรงประสาทฟันนี้ จะทําให้ลูกปวดฟันได้ คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจมีคำถามว่า ถอน ฟันซี่ที่ผุนั้นทิ้งได้มั้ย? เด็กอายุ 1-3 ปีกําลังอยู่ในช่วงวัยหัดพูด ฟันหน้าเป็นหนึ่งในอวัยวะช่วยในการออกเสียง หากถอนฟันของเขาไปในช่วงเวลานี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการพูด ทําให้พูดไม่ชัดได้ ดังนั้น จึงต้องรักษาฟันของลูกที่ผุมากๆ ให้ยังคงอยู่ เพื่อพร้อมสําหรับการฝึกพูด ส่วนฟันกรามจําเป็นสําหรับการบดเคี้ยว ในช่วง 10 ปีที่กําลังเจริญเติบโต และยังเก็บที่ไว้ให้ฟันแท้ เพื่อให้ขึ้นมาเรียงตัวได้สวยงาม |
การรักษาฟันของลูกที่ผุมากๆ ให้ยังคงอยู่นั้น สามารถทำได้ด้วยการครอบฟัน ซึ่งคล้ายการครอบฟันผู้ใหญ่ ต่างตรงที่ครอบฟันเด็กจะมีขนาดสําเร็จรูปอยู่แล้ว เมื่อทันตแพทย์รักษารากฟันเสร็จ ก็เลือกขนาดครอบฟันให้พอดี แล้วครอบลงไปบนฟันซี่นั้น เป็นฟันที่เกิดใหม่สําหรับเด็กๆ ซึ่งบางรายอาจไม่ต้องรักษารากฟัน แต่จําเป็นต้องครอบฟัน เพราะถ้าฟันผุเป็นบริเวณกว้าง แม้จะไม่ลึกถึงโพรงประสาทฟัน แต่การอุดฟันบริเวณกว้าง วัสดุอุดจะเสี่ยงต่อการหลุดหรือแตกได้ง่าย ทําให้เด็กๆ ต้องกลับมาอุดฟันใหม่ หรือหากมาอุดไม่ทันแล้วบริเวณที่ผุขยายใหญ่ขึ้น ก็ต้องมาทําการรักษารากฟันอีกภายหลัง การครอบฟันจะแข็งแรงทนทานกว่า
ครอบฟันจะอยู่ในช่องปากลูกไปจนกว่าฟันแท้จะขึ้น ซึ่งฟันแท้ที่กําลังขึ้นจะละลายรากฟันน้ำนม ให้ค่อยๆ หายไป แล้วฟันแท้ก็ดันตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ และผลักตัวฟันน้ำนมที่เหลือติดเหงือกให้หลุดออกไป แล้วฟันแท้ก็จะโผล่ออกมา ครอบฟันก็เปรียบเหมือนหมวกที่หุ้มอยู่ด้านนอก เมื่อตัวฟันน้ำนมหลุดไป ครอบฟันก็หลุดออกไปด้วย ตามอายุของฟันน้ำนม โดยไม่ต้องมาถอดครอบฟันออกค่ะ
อย่างไรก็ตาม ครอบฟันก็เป็นทางแก้ไขเมื่อเกิดฟันผุแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การดูแลฟันไม่ให้ผุจะดีกว่ามากค่ะ