ตอนที่ 20 การใช้ยายามเมื่อแม่ป่วย
view 3,984
คุณแม่ทั้งหลายอาจแปลกใจระคนโล่งอกถ้าได้รู้ว่า ที่จริงแล้วกระบวนการผลิตน้ำนมของแม่ถูกธรรมชาติรังสรรค์มาให้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงติดมาด้วย นั่นคือกว่าที่น้ำนมจะออกมาได้ต้องผ่านการกลั่นกรองจากผนังถึง 2 ชั้น คือ ผนังหลอดเลือดฝอย และผนังต่อมน้ำนม เมื่อแม่ต้องกินยา ปริมาณยาที่จะผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้จึงไม่ถึง 1% เท่านั้น
นอกจากนั้นร่างกายของลูกเองก็มีระบบป้องกันพื้นฐาน เช่น น้ำลาย น้ำย่อย หรือเนื้อเยื่อคัดกรองต่างๆ ที่คอยสกัดกั้นยาไว้อีกระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าคุณแม่เจ็บป่วยธรรมดา ก็สามารถกินยาได้อย่างปลอดภัย ยกเว้นหากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องได้รับยาเฉพาะทาง ก็อาจจำเป็นต้องหยุดให้นมลูกในขณะใช้ยาค่ะ
ข้อควรระวังเมื่อต้องใช้ยา
แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ยาจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทารกได้ในปริมาณน้อยมาก แต่ถ้าทำได้ เราสู้เลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้ยาผ่านเข้าสู่ร่างกายลูกเลยย่อมดีกว่าค่ะ หากเป็นหวัด คัดจมูก ควรบรรเทาอาการด้วยตัวเองก่อน เช่น กินอาหารที่มีวิตามินซีสูง ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ถ้าต้องไปพบคุณหมอ ควรแจ้งให้ทราบว่ากำลังให้นมลูกอยู่ คุณหมอจะได้เลือกยาที่มีผลต่อการให้นมน้อยที่สุด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น ยาบางตัวต้องกินติดต่อกันจนหมด บางตัวต้องกินหลังอาหาร ในระหว่างนั้นก็ควรสังเกตอาการของลูกด้วยว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
- ปกติยาจะมีปริมาณสูงสุดในกระแสเลือดหลังจากกินไปแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมง ฉะนั้นจึงควรกินยาหลังจากให้ลูกกินนมเสร็จทันที หรือเลือกช่วงที่ลูกหลับนานที่สุด เพื่อช่วยลดโอกาสที่ยาจะผ่านน้ำนมไปสู่ลูก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยขับยาออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
- ถ้ามีอาการข้ออักเสบ เคล็ด ขัดยอก ควรใช้ยาทาภายนอกแทนยากิน
- หากต้องใช้ยาที่ห้ามใช้ขณะให้นมลูก คุณแม่ควรบีบหรือปั๊มน้ำนมเก็บแช่แข็งไว้ให้ลูกล่วงหน้า ให้พอดีกับช่วงเวลาที่รักษา และระหว่างที่ต้องกินยาพร้อมกับหยุดให้นมชั่วคราว ก็ควรบีบหรือปั้มน้ำนมในขณะนั้นทิ้งเพื่อให้เต้านมยังคงผลิตน้ำนมต่อไปได้
- ถ้าจำเป็นต้องรักษาระยะยาว ลองพูดคุยปรึกษากับคุณหมอว่าจะหยุดให้นมแม่ชั่วคราวก่อนเพื่อรับการรักษาแล้วค่อยกลับมาให้นมลูกอีกครั้ง หรือเลื่อนการรักษาไปก่อนแล้วรอให้ลูกหย่านม (ในกรณีที่สามารถเลื่อนการรักษาได้) หรือต้องหยุดตลอดไป
"นมแม่ ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย มี้ด จอห์นสัน สนับสนุนการให้นมบุตรมากที่สุดและนานที่สุด", ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaibreastfeeding.org