ทำอย่างไรเมื่อน้ำเดินก่อนกำหนด

view 2,940

ทำอย่างไรเมื่อน้ำเดินก่อนกำหนด
     โดยปกติแล้ว ทารกจะลอยตัวอยู่ในถุงน้ำคร่ำตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ หากเมื่อไรที่มีน้ำเดินหรือมีน้ำคร่ำ (ซึ่งมีลักษณะใส) ไหลออกมาจากช่องคลอด จึงเป็นเสมือนการส่งสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เพื่อบอกให้รู้ว่า คุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ให้รีบเตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้ แม้ว่าจะยังไม่ถึงกำหนดคลอดก็ตาม
     นั่นเพราะการที่น้ำเดินก่อนกำหนด นอกจากจะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดแล้ว ยังอาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น มีการกดสายสะดือทำให้ทารกขาดเลือด ขาดออกซิเจน ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เชื้อโรคต่างๆ หลุดเข้าไปในมดลูกทำให้ทารกและแม่มีการติดเชื้อได้
     ดังนั้นหากคุณแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้เร่งคลอด เพราะไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ แต่หากมีน้ำเดินก่อนกำหนดในช่วงที่อายุครรภ์น้อยกว่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อทารก โดยเฉพาะปอดและสมองที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และให้ยาสเตียรอยด์ เพื่อเร่งให้ปอดทารกแข็งแรง และคอยเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด รอจนอายุครรภ์ครบ 32 สัปดาห์ก่อน จึงจะทำการคลอดให้ เนื่องจากการทำคลอดขณะที่อายุครรภ์ยังไม่ครบ 32 สัปดาห์เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกได้
     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้น้ำเดินก่อนกำหนด แต่มีโอกาสพบได้ในกลุ่มคุณแม่ที่สูบบุหรี่ เคยมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เคยน้ำเดินก่อนกำหนดมาก่อน และเคยมีประวัติตกเลือดขณะตั้งครรภ์มาก่อน


https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94