รู้จักลักษณะการกินและพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ
view 4,540
เมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะ การกินของลูกก็เปลี่ยนไปคล้ายผู้ใหญ่ จากที่เคยกินแต่นมและอาหารบดละเอียด ก็เริ่มกัดและเคี้ยวอาหารได้แล้ว วัยนี้เป็นวัยของการเลียนแบบ เด็กเห็นผู้ใหญ่กินอะไรก็อยากจะกินบ้าง แต่บางครั้งเวลาที่ให้กินข้าวกลับไม่ยอมกินซะดื้อๆ เพราะห่วงเล่นจนคุณแม่กังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ กลัวลูกไม่โต พฤติกรรมนี้เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยของเด็กในวัยนี้
เมื่ออายุย่างเข้า 1 ขวบ เด็กจะเริ่มใช้มือหยิบจับหรือคว้าของ เพื่อสำรวจและเรียนรู้สิ่งรอบตัว อีกทั้ง เวลาป้อนข้าวก็จะแย่งช้อนจากมือของคุณแม่เพื่อตักอาหารเอง คุณแม่จึงควรใช้โอกาสนี้เริ่มฝึกให้ลูกกินอาหารจากถ้วยและให้ใช้มือจับช้อนกินเองบ้าง สลับกับคุณแม่ป้อนบ้าง
ภาชนะที่ใส่อาหารของลูก ควรทำจากวัสดุที่ไม่แตกง่าย มีลวดลายน่ารักและสีสันสดใส ลูกอาจตักข้าวหกเลอะเทอะหรือกินเรียบร้อยไปบ้าง ก็ควรทำใจ ปล่อยให้ลูกกินเอง และอดทนจนกว่าลูกจะทำได้ ถ้าลูกกินช้า ก็ไม่ควรดุลูกหรือรีบป้อนลูกเอง เพราะความใจร้อนของคุณแม่ เพราะเท่ากับคุณแม่ขัดขวางการเรียนรู้ของลูก
เมื่อลูกสามารถตักข้าวกินเองได้ คุณแม่ควรชมให้กำลังใจลูกด้วย เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่าเขาทำได้ สิ่งสำคัญคือคุณแม่จะต้องฝึกวินัย การกินให้ลูก เพื่อที่ลูกจะสามารถกินอาหารได้เองโดยที่ไม่ต้องให้คุณแม่คอยตามป้อนให้เป็นปัญหากันทั้งแม่ทั้งลูก
เมื่อลูกกินอาหารได้เองแล้ว คุณแม่ก็ค่อยๆ เริ่มฝึกวินัยในการกินให้ลูก ควรกำหนดเวลาในการกินอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน เช่น มื้อหนึ่งไม่ควรเกิน 30 นาที โดยเด็กวัยนี้กินอาหารวันละ 3 มื้อและของว่าง 2 มื้อ เพื่อไม่ให้ลูกใช้เวลาในการกินนานเกินไป ถ้าลูกไม่ยอมกินหรือเล่นอาหาร ขว้างปาช้อนหรือถ้วยก็ไม่ควรบังคับให้ลูกกิน เพราะลูกอาจต่อต้านด้วยการปฏิเสธอาหาร และเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ต้องเก็บอาหารทันที เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นเวลาและให้ลูกเรียนรู้ว่าถ้าไม่กินตอนนี้ก็จะไม่มีให้กินและทำให้ลูกหิว เมื่อถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป ลูกก็จะกินอาหารได้มากขึ้น |
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การกินนี้ประสบความสำเร็จคือ คุณแม่ไม่ควรใจอ่อนหรือตามใจให้ลูกกินในภายหลังเมื่อลูกออดอ้อน เพราะจะทำให้ลูกคิดว่าอยากกินเมื่อไรก็ได้กิน และทำให้ลูกกินอาหารไม่เป็นเวลา ซึ่งวินัยในการกินที่คุณแม่ต้องการฝึกจะไม่ได้ผลค่ะ