ลูก “คิด” ก่อนพูดได้
view 3,631
ลูก “คิด” ก่อนพูดได้
เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่น่าทึ่งของเด็ก ที่ทำให้เรารู้ว่าก่อนที่เด็กๆ จะพูดได้นั้น เขาสามารถล่วงรู้ในสิ่งที่ผู้ใหญ่รับรู้ และรู้ว่าผู้ใหญ่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ นักวิจัยจากสถาบัน แม็กซ์ แพลงก์ ในเยอรมนี บอกว่า แท้จริงแล้วทารกในช่วง 12 เดือนแรกสามารถเข้าใจการรับรู้ และการเพิกเฉยของผู้อื่น ตลอดจนถึงแรงกระตุ้นในการเข้าสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้ข้อมูลที่จำเป็น
บทสรุปที่ว่านี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารค็อกนิชั่น โดยอ้างอิงการบอกเล่าของนักวิจัยกลุ่มนี้ว่า พวกเขาได้ทำวิจัยในเด็กอายุหนึ่งขวบ โดยเด็กตัวน้อยนั่งตักพ่อหรือแม่ที่โต๊ะ และนักวิจัยนั่งอยู่ตรงข้าม จากนั้นนักวิจัยจะหยิบของชิ้นหนึ่งขึ้นมาโชว์ เช่น กรรไกร หรือที่เย็บกระดาษ ก่อนวางของสิ่งนั้นที่ขอบโต๊ะ เพื่อให้ร่วงหล่นลงพื้น โดยนักวิจัยอาจมองตามของที่หล่น หรือบางครั้งอาจหันหน้าไปทางอื่น หลังจากนั้นจึงทำหน้าสงสัย และถามเด็กว่า ของหายไปไหน
ผลที่ได้ในกรณีที่นักวิจัยมองตามสิ่งของที่หล่นลงพื้น พบว่า เด็กมีแนวโน้มที่จะไม่ช่วยหาของ ซึ่งอาจเป็นเพราะหนูน้อยรับรู้ข้อเท็จจริงว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องชี้ตำแหน่งสิ่งของให้แก่นักวิจัย แต่กรณีที่นักวิจัยแกล้งทำเป็นไม่เห็นตอนของหล่น เด็กจะพยายามชี้ตำแหน่งสิ่งของที่ตกลงบนพื้น
“ผลการศึกษาของเรา แสดงให้เห็นกระบวนการสื่อสารทางความคิดที่ซับซ้อนของทารกช่วงวัยก่อนที่จะพูดได้ ซึ่งงานวิจัยก่อนหน้านี้สรุปว่าทักษะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุ 2 หรือ 3 ขวบเท่านั้น”
ดังนั้น เพื่อให้พัฒนาการด้านการคิดของลูกก้าวหน้าไปเรื่อยๆ การที่เด็กได้มีประสบการณ์ต่างๆ มีข้อมูลหลากหลายในสมอง จะช่วยเอื้อต่อพัฒนาการด้านนี้ของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเสริมให้ลูก ผ่านการเล่น การพูดคุย การอ่านหนังสือ การชี้ชวนดูสิ่งรอบตัวอยู่เสมอๆ นั่นเอง