เล่นอะไรกับลูกวัยนี้ได้บ้าง
view 5,941
อายุน้อยๆ ไม่เกิน 6 เดือนแบบนี้ ตาจะเป็นส่วนที่พัฒนาได้ช้าที่สุด ลูกจะมองเห็นได้แค่ใกล้ๆ ไม่เกิน 10-13 นิ้วเท่านั้นเอง สีต่างๆ ก็ยังเห็นไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ แต่มีงานวิจัยของ Dr.Robert Fantz จากมหาวิทยาลัย Cleveland รัฐโอไฮโอ พบว่า เด็กแรกเกิดจะเลือกมองรูปภาพที่เป็น เรขาคณิต และจะมองเฉพาะสีดำ-ขาว มากกว่าสีอื่นๆ เพราะเป็นสองสีที่มีความเข้มของสีแตกต่างกันที่สุด ก็เลยทำให้เด็กแรกเกิดสนใจเป็นพิเศษและนั่นก็ทำให้เด็กกระตือรื้อร้นอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวมากขึ้นด้วยค่ะ
จริงๆ แล้วพ่อแม่อย่างเราสามารถเล่นกับเจ้าตัวเล็กได้ตั้งแต่เกิดแล้วนะคะ ลองสังเกตเวลาที่ลูกตื่นหรือหลับ ถ้าดูๆ แล้วท่าทางวันนั้นเจ้าตัวเล็กของเราจะอารมณ์ดี ท่าทางกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ก็ถือว่าเล่นกับลูกได้ค่ะ อาจจะเล่นกับลูกวันละ 5-10 นาที ก่อนหรือหลังให้นมช่วงเช้า กลางวันและเย็น เป็นระยะ เพราะเวลานี้เจ้าตัวเล็กจะรู้สึกผ่อนคลายเป็นพิเศษและตื่นตัวต่อการเรียนรู้มากที่สุด
เล่นอะไรกับเจ้าตัวเล็กได้บ้าง
1. เล่นเพื่อกระตุ้นการมองเห็น : แค่อุ้มเจ้าตัวเล็กแล้วชี้ชวนให้มองดูสิ่งต่างๆ รอบตัว ช่วงอายุ 2-3 เดือนแรกอาจหลอกล่อลูกให้มองโมบายสีดำขาวก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนให้เขา มองโบมายสีสดๆ ตอนโตกว่านี้เล็กน้อย ว่างๆ ก็เล่นง่ายๆ กับลูกอย่าง โผล่หน้าจ๊ะเอ๋กับลูก ทำสีหน้าต่างๆ เวลาคุยกับเจ้าตัวเล็ก สบตาและยิ้มสดใสกับลูกบ่อยๆ นะคะ จะได้กระตุ้นให้เขามองได้มากขึ้น
2. เล่นเพื่อกระตุ้นการได้ยิน : คุณแม่อย่างเราลองหันหน้าเข้าหาลูกแล้วคุยกับเขาดูนะคะ อาจหยอกล้อด้วยการทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ กับลูกทุกวันด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ระหว่างนั้นก็เขย่าของเล่นหรือบีบของเล่นให้มีเสียง เด็กจะได้หันมาฟังและจะได้รู้จักแยกแยะเสียงต่างๆได้ดีถ้าคุณแม่เสียงดีหน่อยจะร้องเพลงกล่อมเด็กจังหวะนุ่มๆ หรือเปิดเพลงคลาสสิกให้เขาฟังก็ได้นะคะ
3. เล่นเพื่อกระตุ้นการได้กลิ่น : แค่อุ้มเจ้าตัวเล็กให้ชิดตัวเราเข้าไว้ ให้ลูกรับรู้กลิ่นที่คุ้นเคยของพ่อแม่ และเขาก็จะค่อยๆ แยกแยะกลิ่นอื่นที่แตกต่างกันออกไปได้ หรือให้เด็กรู้จักกลิ่นน้ำนมระหว่างที่ดูดนมแม่ไปด้วย เขาจะได้รู้สึกอุ่นใจขึ้น
4. เล่นเพื่อกระตุ้นการสัมผัส : หาของเล่นนุ่มๆ ชิ้นไม่ต้องใหญ่มากมาให้เขากอดเล่น แล้วก็ลูบสัมผัสตัวเจ้าตัวเล็กอย่างนุ่มนวล หอมแก้มจุ๊บๆ เบาๆ อุ้มหรือกอดให้เขาได้ยินเสียงหัวใจพ่อแม่เต้นด้วย เขาจะได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รักและมีคุณค่านะคะ
5. เล่นเพื่อกระตุ้นการรู้รส : ระหว่างให้นมลูก เขาก็จะรับรู้รสชาติของน้ำนม แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ แยกแยะรสชาติอื่นที่แตกต่างไปหลังจากนั้นได้ค่ะ
6. เล่นเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว : ให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ อาจจะชวนให้ เขาคว้าโมบายที่อยู่ข้างบน หรือทำให้ลูกเตะถีบขาตอนนอนหงายวันละ 5 นาทีทุกวัน เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรให้เขาใส่ถุงเท้าหรือถุงมือนานเกินไป เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อมือ และเท้าเคลื่อนไหวได้ไม่อิสระและเต็มที่ค่ะ
Do you know? เล่นกับเขาบ่อยๆ นะคะ เดี๋ยวเขาก็จะสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ได้จากการเล่นกับพ่อแม่ มาเป็นคนเล่นเอง อย่างรู้จักสำรวจร่างกายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ปาก เริ่มทำเสียงแปลกๆ ทำเสียงในลำคอ แล้วก็เริ่มเล่นของอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว เริ่มคว้าของที่อยู่ใกล้มือมาเล่น แต่สุดท้าย ก็แล้วแต่ความสามารถที่แตกต่างกันตามวุฒิภาวะของเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ