คุณค่าดนตรี...ต่อเด็กๆ
view 3,090
เสริมสร้างสมาธิ
การให้เด็กได้ฟังเสียงเครื่องดนตรีบรรเลงเพลงต่างๆ จะช่วยพัฒนาสมาธิ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ในชั้นเรียน กับวิชาเรียนที่หลากหลายและซับซ้อนที่เด็กต้องเผชิญในอนาคต
ฝึกการทำงานประสานกันของทุกส่วนในร่างกาย
การฝึกเล่นเครื่องดนตรี จะช่วยพัฒนาทักษะความสัมพันธ์ระหว่างมือกับสายตาเป็นอย่างมาก ทั้งยังขณะที่เล่นเครื่องดนตรี เด็กยังได้พัฒนากล้ามเนื้อส่วนสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ไม่ต่างจากขณะที่เล่นกีฬาเลยทีเดียว
ช่วยพัฒนาสมองทั้งสองซีกอย่างสมดุล
ขณะฟังดนตรี สมองซีกขวาจะรับรู้ถึงความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และปล่อยความคิดจินตนาการไปตามบทเพลง ส่วนสมองซีกซ้ายรับรู้ตัวโน้ตและจังหวะเคาะของดนตรีที่คล้ายการอ่านหนังสือแต่ละตัว จึงช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายด้านภาษาและคณิตศาสตร์ เสียงดนตรีจึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการพัฒนาสติปัญญา และอารมณ์ของเด็กไปพร้อมๆ กัน จากงานวิจัยพบว่า สมองของผู้ใหญ่ที่ได้เรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็กจะมีโครงข่ายความเชื่อมโยงของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาครอบคลุมพื้นที่กว้าง และละเอียดซับซ้อนกว่าคนที่ไม่ได้เรียนดนตรี
ให้ความสงบผ่อนคลาย
มีนักวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าเสียงดนตรีจังหวะช้าๆ นุ่มนวล ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้เป็นอย่างดี
ช่วยให้เรียนรู้คณิตศาสตร์ดีขึ้น
รูปแบบ จังหวะ และท่วงทำนองที่หลากหลายของเสียงดนตรี จะช่วยกระตุ้นการทำงานและสร้างเส้นใยประสาทของสมองลูก ให้เรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ดีในอนาคต
สร้างความมั่นใจในตนเอง
การให้เด็กได้ฝึกฝนเล่นเครื่องดนตรีที่ตนรักและถนัด ภายใต้คำชี้แนะและกำลังใจจากครูผู้สอน ประกอบกับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่นั้น เป็นการปลูกฝังความรู้สึกภาคภูมิใจและความมั่นใจในตนเองอันดีให้กับเด็ก
นอกจากนั้น การเล่นดนตรียังเป็นการแสดงออกซึ่งตัวตนและความคิดสร้างสรรค์ของคนๆ หนึ่ง ซึ่งแทนด้วยภาษาพูดหรือถ้อยคำไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นเครื่องมือสื่อสารตัวตนและอารมณ์ความรู้สึกอันเยี่ยมยอดสำหรับเด็ก ซึ่งยังมีขีดจำกัดในทักษะด้านนี้ (ล้อมกรอบ)
หลักฐานวิจัยบ่งชัด...ดนตรีช่วยพัฒนาสมองเด็ก
ในปี 2006 มีรายงานตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ชื่อ Brain ถึงการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยชาวแคนาดา โดยทำการทดลองกับเด็กเกรด 4 (วัย 4-6 ขวบ) จำนวน 111 คน ในมอนทรีออล ซึ่งเด็กเหล่านี้ยังไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อน ไม่มีเปียโนที่บ้าน รายได้ต่อปีของครอบครัวต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์แคนาดา การทดลองแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เรียนเปียโนเป็นเวลา 3 ปี และได้รับเปียโนไปไว้ที่บ้าน กลุ่มที่ 2 เด็กไม่ได้เรียนดนตรีใดๆ จากนั้นเมื่อคณะนักวิจัยให้เด็กกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวทำแบบทดสอบความจำที่เชื่อมโยงกับการทดสอบระดับสติปัญญาโดยทั่วไป เช่น การอ่านออกเขียนได้ การจดจำถ้อยคำ-คำศัพท์ การเข้าใจ และมีทักษะด้านมิติสัมพันธ์ รวมทั้งความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และไอคิว ผลการทดสอบพบว่า เด็กกลุ่มแรกที่เรียนเปียโนทำคะแนนได้ดีกว่า
นักวิจัยยังพบด้วยว่า การเรียนดนตรีส่งผลดีต่อเนื่องถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็กอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการอ่าน และทำความเข้าใจ การสะกดคำ ทักษะการฟัง (หรือที่เราเรียกกันว่า "การมีหูละเอียด") ทักษะทางจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน (เช่น การพูด การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส ความเข้าใจเรื่องจำนวน ความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์) รวมถึงพัฒนาการของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย