ตรวจประเมินทารกในครรภ์..ทำได้อย่างไร
view 3,751
ตรวจประเมินทารกในครรภ์..ทำได้อย่างไร
การตรวจประเมินทารกในครรภ์ เป็นวิธีหนึ่งที่สูติแพทย์ใช้ตรวจดูว่า ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะปกติหรือมีภาวะเสี่ยงใดๆ หรือไม่ ซึ่งการตรวจสามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้
• การตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้เพื่อวินิจฉัยการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของเด็กและรก รวมทั้งสามารถบอกรูปร่างลักษณะและสรีรวิทยาของมดลูก ทารกในครรภ์ รก สายสะดือ และน้ำคร่ำได้โดยไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
• การตรวจกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
o ตรวจครั้งเดียวในไตรมาสแรก (Combined Test) ทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ โดยการตรวจอัลตราซาวนด์วัดความหนาของต้นคอทารกร่วมกับการตรวจเลือด ซึ่งสามารถตรวจกรองได้ 87% โดยมีผลบวกลวง 5%
o ตรวจ 2 ครั้งในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 (Integrated Test) ตรวจกรองได้สูงถึง 96% โดยมีผลบวกลวง 5% วิธีนี้จะตรวจอัลตราซาวนด์วัดความหนาของต้นคอทารกร่วมกับตรวจเลือดครั้งแรกตอนอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ และเจาะเลือดอีกครั้งตอนอายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์ ซึ่งจะทราบผลหลังเจาะเลือดครั้งที่ 2
o ตรวจครั้งเดียวในไตรมาสที่ 2 (Quadruple Test) ในกรณีที่คุณแม่มาฝากครรภ์หลังไตรมาสแรกสามารถตรวจเลือดในช่วงอายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์ และตรวจกรองได้ 81% โดยมีผลบวกลวง 5%
o NIFTY Test เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ โดยการตรวจดีเอ็นเอของทารกในเลือดคุณแม่ ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจกรองดาวน์ได้สูงกว่า 99% โดยมีผลบวกลวงน้อยกว่า 1% สามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และจะทราบผลภายใน 3-4 สัปดาห์หลังตรวจเลือด
• การเจาะน้ำคร่ำ ตรวจในช่วงอายุครรภ์ 15-19 สัปดาห์ การตรวจน้ำคร่ำสามารถนำเซลล์ของทารกมาเพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ได้ เช่น โครโมโซมผิดปกติ ธาลัสซีเมีย หรือโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมตามความเห็นของแพทย์ได้เช่นกัน เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากรก การเจาะเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์ การตรวจการทำงานของหัวใจทารก (non-stress test: NST) เป็นต้น