ตอนที่ 15 ปัญหาลูกไม่ยอมดูดนมแม่
view 15,823
สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องไม่รู้สึกผิด หรือโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองเมื่อลูกไม่ยอมดูดนมแม่ ทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย อย่าหงุดหงิด หัวเสีย หรือเอาแต่กังวลใจ และอย่าถอดใจง่ายๆ...อย่าลืมว่า ลูกรอน้ำนมและความช่วยเหลือจากคุณแม่อยู่ค่ะ
ปัญหาลูกไม่ยอมดูดนมแม่ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Nursing strike คืออาการที่ลูกปฏิเสธเต้านมหลังจากที่ดูดนมเป็นปกติมาเป็นเวลาหลายเดือน การที่ลูกไม่ยอมดูดนมแม่นี้อาจหมายถึงมีบางสิ่งเกิดกับลูกและลูกกำลังพยายามสื่อสารให้คุณรู้ว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่นะ อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เดียวกันนี้ เด็กแต่ละคนอาจมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป บางคนก็ดูดนมต่อไปได้ บางคนอาจฉุนเฉียวกับเต้านม บางคนถึงกับปฏิเสธเต้าตลอดไป และแน่นอนไม่มีแม่คนไหนอยากให้เป็นอย่างกรณีหลังสุดแน่นอน
เรามาดูกันดีกว่าว่าสาเหตุของการปฏิเสธเต้าหรือการที่ลูกไม่ยอมดูดนมแม่มีอะไรบ้าง
- เจ็บเหงือกเพราะฟันกำลังขึ้น หรือเกิดจากการติดเชื้อราในช่องปาก หรือเจ็บคอจากหวัด
- หูติดเชื้อ ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะดูดนม
- ความเจ็บปวดที่เกิดจากท่าให้นมไม่ถูกวิธี หรือความเจ็บปวดหลังการได้รับวัคซีน
- ความสับสนที่ต้องพรากจากแม่เป็นเวลานาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงมากในกิจวัตรประจำวัน เช่น แม่ที่เคยอยู่ด้วยทั้งวันต้องกลับไปทำงาน
- ถูกดึงดูดความสนใจโดยสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ รอบตัว
- เป็นหวัดคัดจมูกซึ่งทำให้การหายใจลำบากขณะดูดนม
- ปริมาณน้ำนมแม่ที่ลดลงเนื่องจากให้ลูกดูดจากขวดเพิ่มขึ้น หรือดูดจุกหลอกมากเกินไป ทำให้ความถี่ในการดูดนมแม่ลดลง ส่งผลให้ต่อมน้ำนมผลิตนมน้อยลงตามไปด้วย
- เป็นการตอบสนองต่อปฏิกิริยาที่แข็งกร้าวของแม่เมื่อแม่ถูกลูกกัด
- รู้สึกสับสนเมื่อได้ยินคนในครอบครัวโต้แย้งหรือใช้เสียงแข็งกร้าวใส่กันขณะกำลังดูดนม
- ตอบสนองต่อความเครียด ถูกกระตุ้นมากเกินไป หรือถูกเลื่อนการให้นมเมื่อถึงเวลาต้องกินนมอยู่บ่อยๆ
เทคนิคแก้ปัญหาลูกไม่ยอมดูดนมแม่
ถ้าลูกของคุณปฏิเสธนมแม่ เป็นเรื่องปกติที่คุณจะกังวลและสับสนโดยเฉพาะเมื่อต้องเห็นว่าลูกไม่มีความสุข แต่ไม่ว่าอย่างไร จุดสำคัญคือคุณต้องไม่รู้สึกผิดหรือโทษว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง ทำใจให้สบาย พยายามผ่อนคลาย แล้วลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อแก้ปัญหาดูนะคะ
- พยายามให้ลูกดูดนมตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเต้านมคัดและปัญหาที่นำไปสู่ท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมให้ลูกปฏิเสธนมแม่มากขึ้นไปอีก
- พยายามใช้วิธีอื่นในการป้อนนมลูกเป็นการชั่วคราว เช่น ใช้ถ้วย หลอดหยด หรือช้อน (และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมให้เป็นทางเลือกสุดท้าย-ท้ายสุดไว้เสมอ)
- หมั่นตรวจดูผ้าอ้อมลูก เป็นการตรวจสอบปริมาณปัสสาวะเพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ (5-6 ครั้งต่อวัน)
- พยายามลองปรับเปลี่ยนท่าให้นมหลายๆ ท่า
- พยายามให้ความสนใจลูกเต็มที่และปลอบโยนลูกด้วยการสัมผัสและกอดรัดมากขึ้น
- พยายามให้นมขณะนั่งบนเก้าอี้โยกในห้องที่เงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนใดๆ มีเพียงคุณและลูกน้อยตามลำพัง
- พยายามเสนอเต้าให้ลูกดูด ถ้าลูกไม่ยอมให้หยุดและลองทำใหม่ทีหลัง และลองทำเมื่อลูกกำลังจะนอนหรือเมื่อง่วงมากๆ อย่าหงุดหงิด หัวเสีย หรือเอาแต่กังวลใจ และอย่าถอดใจง่ายๆ...อย่าลืมว่าลูกรอน้ำนมและความช่วยเหลือจากคุณอยู่นะ
"นมแม่ ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย มี้ด จอห์นสัน สนับสนุนการให้นมบุตรมากที่สุดและนานที่สุด", ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaibreastfeeding.org