พัฒนาการเด็กวัย 0-6 เดือน ฟังดนตรีได้แล้ว!
view 5,383
เจ้าตัวเล็กในวัยแรกเกิด – 6 เดือนด้วย…
Symphonies, Play and Language ดีอย่างไรกับเจ้าตัวเล็กนะ
คุณแม่อย่างเราอาจจะนึกว่าตัวเล็กแค่นี้ลูกคงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าแค่กินนมแล้วนอน แต่จริงๆ แล้วเบบี๋ตัวน้อยของเรายังต้องการการดูแลเขาอย่างใกล้ชิดเช่นกันค่ะ ซึ่ง ดนตรี การเล่น และสื่อสารพูดคุยกัน จะช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกายและสมองอย่างแน่นอนค่ะ
เจ้าตัวเล็กแรกเกิด – 6 เดือน เขาสนใจดนตรีแล้วหรือ?
ยืนยันได้จากผลงานวิจัยเลยค่ะว่า เด็กแรกเกิดมีความสามารถด้านดนตรีแล้วนะคะ เพราะดนตรีมีส่วนสัมพันธ์กับการคิดแบบมีมิติสัมพันธ์ และการคิดวิเคราะห์ตามเหตุผล แปลว่าถ้าฟังดนตรีตั้งแต่เด็กก็จะทำให้ลูกมีพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาตร์และภาษาตั้งแต่เด็กด้วยค่ะ
มีงานวิจัยพบว่า ความไพเราะของดนตรีคลาสิกจะช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมสติปัญญา ความสนใจ ความจำของเด็กได้ ซึ่งสมองส่วนนี้จะอยู่ในสมองส่วนที่เรียกว่า นีโอคอร์เท็กซ์ และการสร้างอารมณ์สุนทรีย์จากดนตรี จะทำให้เด็กๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนไปพร้อมกันนะคะ
อีกหนึ่งผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ที่ทดลองใช้ดนตรีเพื่อทดสอบความจำของเด็กอายุ 3 เดือนเป็นเวลากว่า 7 วัน ค้นพบว่า เด็กๆ สามารถจดจำสิ่งที่กำหนดให้จำได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าเราเปิดเพลงเดิมๆ ให้ฟัง เขาจะจำได้ง่ายและเรียนรู้ได้ดีด้วยค่ะ ส่วนแม่ที่ร้องเพลงให้ลูกฟัง ตั้งแต่อุ้มท้อง หลังจากคลอดแล้วลองร้องเพลงเดิมให้เขาฟังอีกนะคะ แล้วลองสังเกตว่าเมื่อไหร่ ที่ร้องเพลงเดิมๆ ลูกจะทำท่าทางจำได้ขึ้นมา เขาอาจส่งสัญญาณระหว่างดูดนมแม่ให้เร็วและถี่ขึ้น หรือไม่ก็อาจจะหยุดดูดนมแม่สักระยะเหมือนกับว่ากำลังตั้งใจฟังเสียงเพลงเดิมที่แม่กำลังร้อง ให้ฟังอยู่ค่ะ
เด็กแรกเกิด VS. ดนตรี เกี่ยวอะไรกันไหม?
ผศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังนะคะว่า ทำไมดนตรีถึงมีอิทธิพลกับ สมองของเด็กได้ อาจารย์นวลจันทร์บอกว่าพัฒนาการแรกที่เกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในท้องก็คือการได้ยินนั่นเอง เพราะการได้ยินเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ง่ายกว่าการรับรู้ด้านอื่นๆ มาก อย่างการมองเห็นจะเกิดขึ้นทีหลัง เพราะสมองของเด็กในวัยนี้ยังว่างเปล่าอยู่ค่ะ |
เซลล์ประสาทยังเชื่อมต่อกันได้ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่เสียงดนตรีที่ผ่านเข้าสู่เซลล์ประสาทบริเวณกกหูด้านซ้าย กลับช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้เชื่อมต่อเข้าถึงกันได้ดี ทำให้เด็กๆ มีการสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์และประมวลผลการรับรู้ได้อย่างดีเลยค่ะ