ลักษณะการเล่นเพื่อเพิ่มพัฒนาการของเด็กวัย 1-3 ปี
view 4,502
เพราะเดินได้คล่องแล้ว เด็กวัยนี้จึงสนุกกับการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อไปสำรวจโลกรอบข้าง การเล่นของเด็กในวัยนี้จึงควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยของเขา แต่ไม่ใช่การห้าม เพราะจะเป็นการปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำและเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง
คุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสเด็กได้ฝึกความสามารถในการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะหรือให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง (self-esteem) รู้ว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งจะสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นความมั่นใจ และมีบุคลิกภาพที่ดีต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ เด็กวัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบลองผิดลองถูก และต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่แปลกใหม่ด้วยตัวเอง ตลอดทั้งยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ชอบให้ใครมาสั่งหรือบังคับ จึงอาจแสดงออกโดยการต่อต้าน เช่น ขัดใจลงไปนอนดิ้น ร้องกวนอาละวาด พ่อแม่ต้องรู้จักหลอกล่อหรือเบี่ยงเบนความสนใจ ก็จะลดพฤติกรรมเหล่านั้นได้
การเลือกของเล่นและการให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กเป็นอย่างมาก พ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกสรรของเล่นและจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อเด็กให้เกิดศักยภาพในการเรียนรู้ |
|
การเล่นและของเล่นที่เหมาะกับวัย
- เกมจ้ำจี้มะเขือเปาะ - มีประโยชน์เพื่อฝึกให้ลูกมีสังคม สร้างสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ โดยผู้ใหญ่หรือเด็กจะเป็นผู้นำเกม ใช้นิ้วจิ้มลงบนนิ้วมือของผู้เล่นทีละนิ้ว พร้อมกับร้องเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปาะ” เป็นการฝึกการฟัง สร้างความสนใจ และการมีสมาธิในการเล่นกิจกรรม รวมทั้งทั้งได้รับการเสริมทักษะพัฒนาการด้านภาษา และรู้จักกติกาง่ายๆ ไม่ซับซ้อนในการเล่น
- ลูกบอล - เป็นของเล่นที่ลูกสามารถเล่นได้หลายแบบ เช่น กลิ้ง โยน ขว้าง เตะ ฯลฯ
- บล็อกหรือพวกของเล่นประเภท เคาะ กดหรือตีแล้วเกิดเสียง บล็อกต่อขนาดใหญ่ที่ต่อซ้อนได้ง่ายๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้องระลึกไว้เสมอว่า ของเล่นทุกอย่างไม่มีความสำคัญเท่ากับคนที่เล่นด้วย ซึ่งคือ คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเล่นด้วยความรัก สนุกที่จะเล่นกับลูกค่ะ