วิธีดูแลและรักษาเมื่อลูกบาดเจ็บเป็นแผล
view 3,994
เด็กวัยอนุบาลได้ชื่อว่า วัยซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่งไปวิ่งมา ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหกล้ม หัวร้างข้างแตก หรือเกิดบาดแผลต่างๆ ได้ คุณแม่จึงต้องหาวิธีดูแลเมื่อเกิดบาดแผลขึ้นค่ะ
การดูแลแผลฟกช้ำ แผลลักษณะนี้จะมีเลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง ลักษณะที่เห็นชัดคือเป็นรอยช้ำ บวม และสีผิวเปลี่ยนไปเป็นสีม่วงแดง วิธีดูแลคือ ประคบแผลด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเป็นระยะๆ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อห้ามเลือด หลังจาก 24 ชั่วโมงต่อมา ให้ประคบด้วยน้ำอุ่น เพื่อลดอาการช้ำ บวม ที่สำคัญ ไม่ควรคลึง ขยี้ หรือนวดด้วยความร้อน เช่น ยาหม่อง ยาแก้เคล็ดขัดยอก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น
การดูแลแผลถลอก เช่น แผลที่เกิดจากการหกล้ม สะดุด ลื่นล้ม เป็นต้น และมักเป็นแผลถลอกแบบตื้น มีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย และมักมีฝุ่นผงหรือสิ่งสกปรกเล็กๆ ติดมาด้วย จึงมีโอกาสติดเชื้อ อักเสบได้ คุณแม่ควรห้ามเลือดโดยการใช้สำลีหรือผ้าสะอาดกดที่บริเวณแผลเบาๆ จากนั้นทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและกำจัดเศษสิ่งสกปรกออกให้หมด แล้วใส่ยาทาแผล (เช่น เบตาดัน) ทาให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่ถลอก แต่ถ้าแผลที่ถลอกเป็นรอยลึก อาจใช้ผ้ากอซปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ |
การดูแลแผลถูกบาด เช่น แผลจากมีด เศษแก้ว โลหะ รวมถึงของแหลมมีคมที่แทงเนื้อเยื่อ เช่น เข็มหมุด ตะปู ของปลายแหลม ให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดกดที่แผล เพื่อห้ามเลือด ถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่ให้ใช้ผ้าพับหลายชั้น จากนั้นล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และใช้ผ้าสะอาดปิดแผล ถ้าหลังการทำแผลมีลักษณะบวม แดง และมีกลิ่น ควรรีบพบคุณหมอ เพราะแผลอาจติดเชื้อรุนแรงได้
การดูแลเมื่อลูกหัวโน ให้ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่บวม เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ลดอาการเจ็บ ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้น้ำอุ่นประคบจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว ยิ่งทำให้แผลบวมมากขึ้นและเฝ้าสังเกตอาการลูก หากภายใน 24 ชั่วโมง ลูกมีอาการซึม อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบพาลูกน้อยไปหาคุณหมอโดยเร็ว เพราะสมองอาจได้รับความกระทบกระเทือน
คุณแม่ดูแลใกล้ชิด ไม่นานลูกก็ลุกมาวิ่งเล่นได้เหมือนเดิมค่ะ