เล่นกับแสง...กระตุ้นการมองเห็นของเจ้าหนู
view 11,182
เมื่อคุณแม่อายุครรภ์ 7 เดือนขึ้นไป เจ้าตัวน้อยในท้องก็เริ่มจะลืมตาได้และเริ่มมองเห็นผนังภายในมดลูกแล้วค่ะ ยิ่งช่วงใกล้คลอด มดลูกจะใหญ่ขึ้น ผนังมดลูกก็จะเริ่มบางลง แสงก็สามารถผ่านเข้าสู่ภายในมดลูกได้ จึงเกิดการกระตุ้นระบบการมองเห็นของทารก ทำให้รู้จักความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน ว่าในช่วงกลางคืนภายในมดลูกจะมืดสนิท และกลางวันจะมีแสงผ่านเข้ามา ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาระบบการมองเห็นให้ทารก ธรรมชาติจะหล่อหลอมให้ทารกเกิดความเคยชินทุกวัน เพื่อให้ทารกหลับเวลากลางคืนและตื่นเวลากลางวัน แต่เนื่องจากระบบการมองเห็นของทารกพร้อมจะรับได้เมื่ออายุครรภ์ 7 เดือนขึ้นไปแล้ว การหล่อหลอมจึงเป็นไปในช่วงสั้น ทารกแรกคลอดจึงมักตื่นบ่อยๆ ในเวลากลางคืนจนถึงระยะหนึ่ง ทารกทุกคนจะเริ่มปรับตัวได้ โดยจะนอนกลางคืนและตื่นกลางวัน
การทดลองวิจัยที่ยืนยันให้เราทราบว่า ทารกสามารถมองเห็นตั้งแต่ในครรภ์นั้น โดยได้ทำการทดลองฉายแสงผ่านเข้าสู่มดลูก ขณะที่แสงผ่านจะเห็นว่าทารกมีปฏิกิริยาตอบสนอง กล่าวคือมีการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง เมื่อทดลองเพิ่มแสงสว่างมากขึ้น ทำให้เกิดแสงจ้า ลูกน้อยในครรภ์ก็จะยกมือขึ้นปิดหน้าผากเพื่อบังแสง ซึ่งดูแล้วน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งค่ะ ซึ่งคุณแม่เองก็สามารถใช้แสงเพื่อเล่นกับเจ้าหนูในครรภ์ได้ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ
- ใช้ไฟฉายส่องไปที่หน้าท้อง แล้ววนเป็นรูปวงกลมรอบสะดือช้าๆ เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่รับรู้แสง ลูกในท้องจะเคลื่อนไหวและสนใจแสงไฟ แต่ถ้าส่องนานและบ่อยเกินไปเด็กจะเริ่มเบื่อได้ และความสนใจจะน้อยกว่าตอนที่เริ่มส่องไฟค่ะ
- อีกวิธีหนึ่งสามารถทำได้โดยการส่องไฟที่บริเวณหน้าท้อง เช่นกัน แต่เปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟกระพริบ ห่างจากบริเวณหน้าท้องพอสมควร และมีแสงที่ไม่จ้าจนเกินไป การกระตุ้นโดยการใช้แสงกระพริบเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกปรับสภาพการมองเห็นได้ดีขึ้น ควรทำในช่วงเย็นหลังคุณแม่ทานอาหารเสร็จ เพราะจะทำให้ลูกตื่นและนอนในเวลากลางคืนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้เจ้าหนูปรับตัวเตรียมพร้อมในการออกมาดูโลกอีกด้วย ค่ะ