Floor Time ...ช่วงการเล่นของพ่อแม่ลูก

view 5,077

Dr. Stanley I. Greenspan จิตแพทย์เด็ก เป็นผู้ริเริ่มในการนำหลักการ Floor Time ไปใช้ในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ได้กล่าวไว้ถึงสถานการณ์ยุ่งยากในชีวิตของพ่อแม่ยุคปัจจุบันว่า "พ่อแม่มีภารกิจวุ่นวายในชีวิตเต็มไปหมดจนกระทั่งมีเวลาอยู่กับลูกไม่เพียงพอ และส่งผลให้ตามไม่ทันว่าลูกของตนกำลังมีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างไร มีความรู้สึกนึกคิดต่อชีวิตและต่อโลกรอบตัวอย่างไร อีกทั้งมีการเติบโตทั้งทางความคิดและจิตใจไปอย่างไร" Dr. Greenspan จึงได้พัฒนาแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหานี้ ที่เรียกกันว่า "Floor Time" ซึ่งก็มาจากเวลาที่ผู้ใหญ่ต้องการพูดคุยหรือเล่นกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เราจะต้องนั่งลงกับพื้นเพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับเด็ก

หลักการง่ายๆ ของ Floor Time ก็คือ จัดเวลาสักวันละอย่างน้อย 30 นาที ให้เป็นเวลาที่พ่อแม่จะอยู่ร่วมกับเด็กโดยเฉพาะ โดยตลอดระยะเวลานั้นจะมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ความต้องการของลูก ไม่ใช่ที่ความต้องการหรือความตั้งใจของพ่อแม่

พ่อแม่ต้องทำอย่างไร..ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาทีนั้น

คำตอบก็คือ "ทำอะไรก็ได้ตามใจลูก" เพราะหัวใจสำคัญของหลักการ Floor Time คือ การให้ลูกเป็นผู้เลือกเกมหรือสิ่งที่เขาต้องการเล่น ให้ลูกเป็นผู้กำหนดทิศทางและกติกาการเล่น ให้เขาเป็นคนควบคุมบทสนทนา และเป็นคนคอยบอกว่าคุณต้องทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ส่วนบทบาทของพ่อแม่ในเวลานั้นก็คือ ทำตามความต้องการของลูก และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันตั้งใจกับกิจกรรมที่ลูกกำหนด โดยไม่ต้องเป็นคนคอยกะเกณฑ์หรือควบคุมอะไรเลย

Floor Time ยังมีส่วนช่วยให้ลูกเติบโตโดยมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีด้วย เพราะการใช้ Floor Time อย่างถูกวิธี คือการสร้างบรรยากาศเปิดที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจพอที่จะพูดคุยบอกเล่าถึงปัญหาคาใจทั้งใหญ่และเล็กของเขาให้เราฟัง ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกทักษะทางสังคมแก่ลูกด้วย ซึ่งปัจจุบัน Floor Time ได้ถูกนำไปปรับใช้ในการบำบัดเด็กออทิสติกจนเป็นที่แพร่หลายเช่นกัน

Floor Time ช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูกใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งขึ้น เพราะในระหว่างการทำ Floor Time พ่อแม่จะได้รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูก นำไปสู่การค้นพบสิ่งที่พ่อแม่ลูกสนใจร่วมกัน เกิดความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกันและกัน

หลักการที่ลืมไม่ได้ของ Floor Time

  • ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญมาก 
  • ทำอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น ไม่งด Floor Time เป็นการลงโทษเมื่อลูกทำผิด เพราะจุดสำคัญคือการให้ลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ แม้ในเวลาที่เขาทำบางสิ่งผิดพลาดไป 
  • จัดเวลาให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน (ต่อลูก 1 คน) เพราะเวลาน้อยกว่านั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างสัมพันธภาพอันอบอุ่น เห็นอกเห็นใจ และเต็มไปด้วยความรัก 
  • ทุ่มเทความสนใจให้ลูกแบบเต็มร้อย ปราศจากสิ่งรบกวนใดๆ ทั้งปวงตลอดระยะเวลาการทำ Floor Time 
  • ให้ลูกเล่น "บทนำ" ตลอดช่วงเวลานั้น ทำตามเงื่อนไขที่ลูกต้องการโดยไม่ต้องมีความคาดหวังหรือกำหนดกฎเกณฑ์จัดการขั้นตอนต่างๆ ตามความเคยชินในฐานะพ่อแม่ 
  • พ่อแม่เล่นบทผู้ตามอย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่คอยสังเกตการณ์อยู่เฉยๆ แต่ควร "อิน" เข้าไปกับสิ่งที่ลูกชวนทำในเวลานั้น เพื่อให้ปฏิสัมพันธ์เป็นไปอย่างรื่นไหล 

เทคนิคการทำ Floor Time กับลูกวัย 1- 3 ขวบ

  • แม้ลูกวัยนี้จะพูดได้บ้างแล้ว แต่การสื่อสารของเขามีข้อจำกัด ผู้ใหญ่ต้องช่วยนำเสนอการเล่นดีๆ ให้เขาอยากเล่น และไม่ว่าเขาจะมีท่าทีชอบใจหรือไม่กับข้อเสนอนั้น ก็ต้องใจเย็นไม่บังคับ เคล็ดลับคือลองแนะนำสิ่งที่น่าจะไปได้ดีกับอารมณ์ในขณะนั้นของเขา 
  • เล่นแสดงละครหรือบทบาทสมมุติ โดยให้ลูกเป็นฝ่ายเลือกเรื่อง และบทที่ตัวเองอยากแสดง รวมทั้งบทของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่ไม่ควรอาย (แสดงไปให้เต็มที่ไปเลย) อย่าลืมชวนคุยต่อเติมเสริมจินตนาการ 
  • เสนอเกมให้ลูกเล่น เช่น เกมปริศนาหรือต่อบล็อก พลางพูดคุยไปตามบทสนทนาของเขา 
  • ชวนลูกระบายสีด้วยนิ้วมือ โดยให้เขาเป็นคนเลือกสีที่ชอบ 
  • ร้องเล่นเต้นระบำไปด้วยกันกับเพลงโปรด หรือเล่นเด้งบอลไปมาหากัน 
  • ชวนลูกทำกิจกรรมที่เราเองอยากทำ เพราะเด็กๆ น่ะจะดีใจสุดๆ เลยถ้าได้รับการยอมรับ และอนุญาตให้มีส่วนร่วมในโลกของผู้ใหญ่ ฉะนั้น ถ้าลูกคิดไม่ออกว่าอยากทำอะไร ลองเสนอสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังอยากทำแล้วชวนเขามาสนุกด้วยกันซะเลย เช่น ทำงานศิลปะประดิษฐ์ รดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้
https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/Floor%20Time%20...%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81