ตอนที่ 14 เต้านมคัด
view 10,296
อาการเต้านมคัดเป็นเรื่องปกติอันเป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างน้ำนมมากขึ้น ทำให้เต้านมแม่ใหญ่ขึ้น หนักขึ้น และบวม โดยเฉพาะในวันที่ 2-6 หลังคลอด อาการที่บ่งบอกว่าเต้านมคัดคือเต้านมจะแข็งขึ้นและมีอาการปวด บวม ร้อน เต้านมมีสีแดงขึ้น บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ และอาจทำให้สับสนกับโรคอักเสบติดเชื้อที่เต้านมได้ อาการเต้านมคัดอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ต่อไปนี้ค่ะ
- คุณแม่อุ้มให้นมลูกผิดท่า ส่วนคุณลูกก็ดูดนมผิดวิธี
- คุณแม่อาจพยายามจำกัดเวลาให้นมเป็นการให้ตามตาราง และอาจให้นมไม่บ่อยเท่าที่ควร
- การให้นมหรืออาหารเสริมอื่นๆ แก่ลูก โดยผ่านขวดนม ซึ่งเท่ากับลดความถี่ที่ลูกจะได้ดูดนมจากเต้าคุณแม่
- การให้ลูกดูดจุกหลอกบ่อยเกินไป การที่แม่ต้องเปลี่ยนเวลาให้นมเพื่อเตรียมกลับไปทำงาน
- ตัวลูกเองมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูดนมเช่น นอนหลับตลอดคืน หรือดูดนมในบางช่วงของวันถี่ขึ้น แต่ไปดูดน้อยลงในเวลาอื่น
- เด็กบางคนมีแรงดูดน้อย ทำให้ไม่สามารถดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แม่มีความเครียด อ่อนเพลีย หรือมีภาวะโลหิตจาง
- เต้านมสร้างน้ำนมมากเกินไป แต่ไม่สมดุลกับการระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูด
- หัวนมเป็นแผล
- ความผิดปกติของเต้านม
อาการเต้านมคัดอาจนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบได้ ดังนั้นควรพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเสียแต่เนิ่นๆ หากป้องกันและแก้ไขได้ถูกวิธี อาการควรหายไปภายใน 1-2 วันค่ะ
เทคนิคแก้ปัญหาเต้านมคัด
- เช่นเคยค่ะ หัวใจสำคัญคือต้องเริ่มต้นที่การให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีและการอุ้มให้นมลูกอย่างถูกท่า
- ให้ลูกดูดบ่อยๆ และนานเท่าที่ลูกต้องการ ในช่วงแรกเมื่อร่างกายผลิตน้ำนมมาจนเต็มเต้า ก่อนจะเข้าสู่อาการเต้านมคัด คุณแม่ควรพยายามปลุกลูกให้ดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง การให้ลูกดูดนมจากเต้าช่วยให้นมไหลได้ดีและช่วยระบายนมออกจากเต้า ทำให้เต้านมไม่เต็มจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเสริมการให้นม หรือใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป เน้นการให้ลูกดูดจากเต้าคุณแม่เป็นดีที่สุด
- ก่อนให้ลูกดูดนม พยายามบีบนมด้วยมือหรือปั๊มนมออกก่อนเล็กน้อยเพื่อให้เต้านม ลานนมและหัวนมนิ่มลง หรือนวดเต้านมให้นุ่มและร้อนขึ้น
- ความเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี คุณแม่บางคนใช้ใบกะหล่ำปลีช่วยบรรเทาอาการเต้าคัด (แม้ว่าประสิทธิภาพของใบกระหล่ำปลีสำหรับทุเลาอาการปวดนี้จะยังไม่มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ก็ตาม) วิธีการคือนำกะหล่ำที่แช่เย็นหรือที่อุณหภูมิห้องมาตัดให้เป็นช่องสำหรับหัวนม และวางลงบนเต้านมได้เลย โดยสวมไว้ในเสื้อชั้นใน คอยเปลี่ยนเป็นใบให่เมื่อใบเก่าเหี่ยวลง
- เมื่อต้องกลับไปทำงาน พยายามปั๊มนมในเวลาเดียวกับที่ลูกเคยดูดนมที่บ้าน
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และดื่มน้ำให้มากพอ นี่เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ปรารถนาความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกคน
- สวมเสื้อชั้นในที่พอดี ไม่รัดเกินไป
- หากมีอาการเต้านมคัดเกิน 2 วัน หลังจากพยายามรักษาด้วยตัวเองแล้ว ให้ปรึกษาคุณหมอ พยาบาล หรือที่ปรึกษาด้านนมแม่ตามโรงพยาบาลหรือคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน
"นมแม่ ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย มี้ด จอห์นสัน สนับสนุนการให้นมบุตรมากที่สุดและนานที่สุด", ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaibreastfeeding.org