ตั้งสติ-ตุนเสบียง คุณหมอแนะพ่อแม่รับมือน้ำท่วม

view 2,539

หลายคนที่มีประสบการณ์ มหาอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554 คงยังเข็ดขยาดเมื่อได้ยินข่าวน้ำท่วมที่กำลังเป็น
กระแสมาแรงในช่วงนี้ หลายครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ อาจเกิดความวิตกกังวลเรื่องโภชนาการสำหรับลูก ว่าจะเตรียมอย่างไรให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ไหนจะออกนอกบ้านทีก็ลำบาก น้ำสะอาดมีจำกัด ไฟฟ้า ก็ต้องใช้อย่างประหยัด พ่อแม่บางคนมีความกังวลว่าเด็กจะได้รับประสบการณ์ไม่ดีจากน้ำท่วม มีผลต่อการเรียนรู้และการปรับตัวในอนาคต ซึ่งแท้จริงแล้วสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น พ่อแม่มีส่วนในเตรียมความพร้อมให้กับลูกอย่างใกล้ชิด นับเป็นโอกาสทองสำหรับการเรียนรู้

รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะพ่อแม่รับมือน้ำท่วม วางแผนโภชนาการ ให้ดี เพราะ "เด็กต้องการการสำรองพลังงานโปรตีนมากกว่าผู้ใหญ่ 3 เท่า แต่เนื่องจากเด็กตัวเล็ก กระเพาะเล็ก ดังนั้นพฤติกรรมการกินคือ กินน้อย พ่อแม่จึงควรเตรียมอาหารที่ให้คุณค่าพลังงานสูงในทุกมื้อ และงดเว้นอาหารด้อยคุณค่าเพราะจะไปเบียดบังพื้นที่กระเพาะ"

"นอกจากนี้ อาหารที่เด็กต้องกินอีกอย่างหนึ่งเลยคือ นม ซึ่ง ควรตุนนมประเภทยูเอชที ซึ่งเป็นนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว และเก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ยิ่งถ้าเป็นนมกล่องที่เสริมมีวิตามินเกลือแร่แล้ว ยิ่งช่วยให้เด็กรับสารอาหารครบถ้วน เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ให้ลูกได้ทานแป้ง ไข่ เนื้อสัตว์ และนม ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการขาดวิตามินเกลือแร่เลย"

คุณหมอยังแนะนำอีกว่า "อาการท้องเสีย ท้องร่วงมักมาพร้อมน้ำท่วม ดังนั้นควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้ เช่น เกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย ยาแก้ไข้ ยาแก้หวัด เป็นต้น โดยเมื่อพบว่าลูกมีอาการท้องเสีย ให้งดอาหารช่วยระบายเช่นผักผลไม้ แต่ยังต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ความเชื่อผิดๆ ว่าไม่สบายให้งดอาหารบางประเภทจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"

ดร.ศุภรัตน์ ปรศุพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ บริษัท มี้ด จอห์นสัน ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารเสริมประเภทนม ว่า " ในภาวะเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำสะอาดและก๊าซหุงต้มเป็นสิ่งที่ควรใช้อย่างประหยัด การเลือกซื้อนมยูเอชที ติดบ้านไว้จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนมยูเอชที เป็นนมที่ปลอดเชื้อ สามารถเก็บได้นาน สะดวกสบายและมีความสะอาดปลอดภัยเพื่อให้ลูกรับประทาน โดยทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกกนมที่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม และฟอสฟอรัส รวมถึงวิตามินต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกนมยูเอชที ที่มีกรดไขมันจำเป็น เช่น DHA ที่เป็นสารอาหารช่วยพัฒนาสมองและสายตา ซึ่งจริงๆ แล้วสารอาหารประเภทนี้สามารถหาทานได้ในปลา แต่หากอยู่ในช่วงน้ำท่วม อาหารสดหายากลำบาก การทดแทนด้วยนมกล่องก็ถือเป็นการช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารเพื่อการพัฒนาสมองอย่างครบถ้วน เพราะเด็กในช่วง 3 ขวบปีแรกสมองจะมีการเจริญเติบโตถึง 80%"

ถึงแม้ว่านมยูเอชทีจะ เป็นนมที่ปลอดเชื้อ เก็บได้นาน แต่ก่อนซื้อควรดูว่า ลักษณะกล่องสะอาดไหม ไม่บุบชำรุด ไม่มีรอยฉีกขาดหรือรั่วซึมหรือกล่องบวม ที่สำคัญอย่าลืมดูวันหมดอายุของกล่องนมด้วย

"ก่อนจะให้ลูกดื่มควรเขย่าก่อนทุกครั้ง และหากคุณแม่กังวลว่านมจะเสียก็สามารถเช็คเนื้อนมได้ โดยการเปิดกล่องดูและสังเกตที่สี กลิ่น และรสของนมว่ามีความผิดปกติหรือเปล่า เพียงเท่านี้แม้ว่าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วม การเสริมสารอาหารด้วยนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการก็จะช่วยเติมสารอาหารสำคัญให้กับเด็กๆ ได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน" ดร.ศุภรัตน์กล่าว

นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวถึงวิธีส่งเสริมพัฒนาการ ในสภาวะน้ำท่วม โดยให้พ่อแม่มองว่าเป็นโอกาสทอง

"ทุกๆ วินาทีในชีวิตเราได้เรียนรู้อะไรมากมาย และลูกๆ เราก็ควรได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ดี ถ้ามันท่วมแล้วต้องทำให้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของลูกให้ได้ เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่กังวลมาก เครียดมาก ลูกก็จะรู้สึกกับพ่อแม่ไปด้วย จะกลายเป็นคนวิตกกังวล รับการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ถ้าพ่อแม่มองวิกฤตให้เป็นโอกาสว่า ไม่เป็นไร น้ำท่วมเรามาช่วยกันดู ช่วยกันมันก็จะแห้ง แต่ถ้าน้ำมีมากเกินไป เราทำไม่ไหวเราก็หาที่อยู่ใหม่ ใช้ชีวิตให้เหมือนปกติตอนที่มันไม่มีน้ำ ลูกจะได้เรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆกับเรา เขาจะเรียนรู้การปรับตัว

โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ ยังแนะนำทริคการสอนให้ลูกเข้าใจภาวะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ตามช่วงวัย ดังนี้

1. วัย 1-3 ขวบ พ่อแม่ควรพูดสั้นๆ เพราะเด็กจะสามารถเข้าใจได้เพียงระดับหนึ่ง เช่น "น้ำท่วมละ ไม่เล่นตรงนี้" จากนั้นก็ให้ทำเป็นตัวอย่าง ไม่ไปเดินลุยน้ำให้ลูกเห็น เพราะการเสียเวลาไปอธิบายว่าน้ำมีเชื้อโรคมากมาย มีสัตว์มีพิษ อย่าไปเดิน เด็กไม่เคยรู้จักอยู่แล้วเขาก็จะไม่เข้าใจ เพียงทำให้ลูกเห็น ลูกจะเรียนรู้ได้โดยเห็นจากที่พ่อแม่ทำ

2. วัย 4-6 ขวบ เป็นวัยที่กำลังชอบเล่น และเด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน หากพ่อแม่เห็นว่าลูกสนใจอยากไปเล่นน้ำ ก็ไม่ต้องตกใจเกินเหตุ เราใช้วิธีสอนและทำพฤติกรรมให้ดู แต่หากยังไม่สามารถหยุดเขาได้ เราต้องใช้วิธีการกำกับด้วย เช่น บอกลูกว่าอย่าไปเล่น น้ำสกปรก แต่ลูกยังคงไปเล่น พ่อแม่ก็ควรหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจโดยการหาอย่างอื่นที่สนุกกว่าให้เขาเล่น เขาก็จะเพลินและลืมไปเอง

"สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากคือเรื่องของอันตรายจากอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะเด็กในวัยต่ำกว่า 5 ขวบ พ่อแม่ควรดูแลอย่างดีใกล้ชิดมากๆ อย่าละสายตาเพราะมีโอกาสเป็นอันตรายได้ทุกเมื่อ อย่าไปคิดว่าเขาเก่งแล้ว เพราะจริงๆ เด็กรู้ คือรู้แค่ในระดับหนึ่ง แต่เด็กยังควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือ เขาก็อาจจะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้" คุณหมอพงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.

https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87