ทำอย่างไรเมื่อลูก “เริ่ม” พูดไม่จริง
view 1,299
คุณแม่บางคนอาจกำลังกังวลใจเมื่อพบว่าบางครั้งลูกพูดไม่ตรงกับความเป็นจริง จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องผิดปกติเสียทีเดียวนัก พฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับเด็ก แม้ว่าเราจะพยายามบอกสอนแล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าการโกหกนั้นมาจากเจตนาที่จะไม่ซื่อสัตย์ของเด็กเสมอไปหรอกนะคะ หากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมนี้ได้เช่นกัน เช่น…
ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้ การโกหกในเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ส่วนใหญ่ เนื่องมาจากยังไม่สามารถจะแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องไหนเป็นความคิดฝัน หรือ "จินตนาการ" กันแน่ เขาจึงพูดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องฟังและพิจารณาดีๆ ก่อนที่จะดุว่าลูก แต่ควรค่อยๆสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะว่าเรื่องไหนเรื่องจริงหรือสิ่งที่ลูกคิดขึ้นมา ความกลัว เช่น โกหกเพราะกลัวว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด กลัวว่าจะไม่มีคนสนใจ กลัวว่าจะถูกดุ ซึ่งการโกหกนี้ แม้จะเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็ก แต่ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของผู้ใหญ่ได้เหมือนกันนะคะ ว่า ที่ผ่านมา เราเป็นพ่อแม่ที่ดุเกินไปหรือไม่ เราตำหนิ ดุว่าลูกทุกครั้งที่ลูกทำผิดหรือไม่ และเราเปิดโอกาสให้ลูก "พูด" และเรา "ฟัง" ลูกมากเพียงพอหรือไม่ |
แม้พฤติกรรมนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กทุกคน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะปล่อยผ่านไป โดยไม่แก้ไขนะคะ เด็กก็คือเด็กที่อยากเป็นที่รักของทุกคน เขาพร้อมที่แก้ไขหากได้รับแนวทางที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ วิธีที่จะช่วยให้ลูกห่างไกลจากพฤติกรรมพูดไม่จริง สามารถทำได้ดังนี้
- ชมลูกแทนการตำหนิเมื่อลูกกล้าพูดความจริง ลูกจะได้เรียนรู้ว่าการพูดความจริงนั้นเป็นที่ยอมรับและชื่นชมกว่าการปกปิดความผิด
- หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษหรือติดตรา เช่น ตำหนิว่าลูกเป็นจอมโกหก ดุว่าทำไมถึงขี้โกหกอย่างนี้ เพราะเท่ากับเป็นการสร้างภาพในด้านลบให้กับลูกและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตนเองของลูกด้วย
- ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่ลูกจะช่วยให้เห็นความเป็นไปของลูก รับรู้ปัญหา มีเวลาถามไถ่ และลูกก็ไว้วางใจและพร้อมจะพูดความจริงทุกอย่างกับเรา
- พ่อแม่และคนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของความซื่อสัตย์ ไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น ไม่สอนให้ลูกพูดโกหกเพื่อเอาตัวรอด เป็นต้น