ทําไมนมยูเอชทีจึงเก็บได้นาน
view 3,313
ทําไมนมยูเอชทีจึงเก็บได้นาน
เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า ทำไมเราจึงสามารถเก็บนมยูเอชทีไว้ได้นานถึง 8 เดือนโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น วันนี้ เอนฟา มาช่วยค้นหาคำตอบให้หายข้องใจ
การที่นมยูเอชทีสามารถเก็บไว้ได้นานนับเดือนเพราะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิที่สูงจนทําลายเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ หมด แถมยังบรรจุในกล่องนมที่ทําให้ปลอดเชื้อก่อนการบรรจุ และกล่องนมที่เราเห็นบางๆ นั้นประกอบด้วยวัสดุ 3 ชนิด คือ กระดาษ(75%) โพลีเอททีลีน(20%) และอลูมิเนียมฟอยล์(5%) ประกบเข้าด้วยกันถึง 6ชั้นจากด้านนอกถึงด้านในสุด เพื่อปกป้องน้ำนมด้านใน โดยแต่ละชั้นทําหน้าที่ ดังนี้
ชั้นที่ 1 โพลีเอททีลีน – เป็นฟิล์มบางเคลือบด้านนอก เพื่อป้องกันความชื้นจากภายนอก
ชั้นที่ 2 กระดาษ - เพื่อรักษารูปทรงของกล่อง การพิมพ์ฉลากก็จะพิมพ์ที่ชั้นนี้
ชั้นที่ 3 โพลีเอททีลีน - เป็นตัวเชื่อมระหว่างชั้นกระดาษ กับอลูมิเนียมฟอยล์
ชั้นที่ 4 อลูมิเนียมฟอยล์ - ป้องกันอากาศ (ออกซิเจน) แสงสว่าง และกลิ่นจากภายนอก
ชั้นที่ 5 โพลีเอททีลีน - เป็นตัวเชื่อมระหว่างอลูมิเนียมฟอยล์กับพลาสติกชั้นในสุด
ชั้นที่ 6 โพลีเอททีลีน - ป้องกันการรั่วซึมของนมที่อยู่ในกล่อง
การบรรจุและปิดผนึกกล่องนม ยู เอช ที จะดำเนินการในห้องบรรจุที่ปลอดเชื้อ นมกล่อง ยู เอช ที จึงสามารถเก็บได้นานนับเดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น
แล้วทำไมนม ยูเอชที จึงเสียหรือมีกล่องบวม ทั้งๆ ที่ยังไม่เปิดกล่องและยังไม่ถึงวันหมดอายุ
ด้วยอุณหภูมิที่ฆ่าเชื้อได้หมดสิ้น และระยะเวลาการฆ่าเชื้อที่สั้นมาก นมยูเอชที จึงสามารถทรงคุณค่าทางอาหาร สี กลิ่น และรสในน้ำนม ดังนั้น การที่นมเสียหรือมีกล่องบวม มักไม่ได้เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนม แต่สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแม้จะผนึกกันถึง 6 ชั้น แต่ก็ทนต่อแรงกดทับหรือแรงกระแทกได้ไม่มากนัก เพราะอาจทำให้เกิดรอยรั่วของบรรจุภัณฑ์ในขนาดต่างๆ กันจากรอยรั่วขนาดเล็กจนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ไปจนถึงรอยรั่วขนาดใหญ่จนแยกออกจากกัน โดยเฉพาะบริเวณมุมกล่อง หากรอยรั่วของกล่องนมนี้ลึกเข้าไปในชั้นที่ 5ของกล่อง น้ำนมก็จะยังไม่ไหลซึมออกมานอกกล่อง แต่จะทำให้อากาศด้านนอกกล่องสามารถซึมผ่านเข้ามาได้ และเป็นตัวนำจุลินทรีย์เข้าไปภายในกล่องนม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้นมบูดเสียก่อนวันหมดอายุ
ถ้านมถูกเก็บต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ปริมาณของจุลินทรีย์จะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งของเสียที่เกิดขึ้นจากการย่อยนมของจุลินทรีย์จะทำให้เกิดก๊าซ อาการบวมของกล่องนมจึงตามมาจนบางครั้งกล่องอาจจะระเบิดออกได้ ซึ่งรอยรั่วประเภทนี้มักมีขนาดเล็กไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้วิธีการย้อมสีเท่านั้น