พัฒนา 7 Senses...ด้วยการเล่น

view 5,323

     เมื่อพูดถึงประสาทสัมผัส คุณพ่อคุณแม่อาจนึกไปถึงแค่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่คุ้นเคยกัน แต่ในแวดวงของนักพัฒนาการเด็กปฐมวัย จะให้ความสำคัญกับประสาทสัมผัส 7 ประการ (7 Senses) ตามหลักของ Sensory Integration หรือ SI ซึ่งคือ กระบวนการการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางในการจัดระเบียบสัญญาณประสาท ที่รับจากอวัยวะรับความรู้สึกแล้วผสมผสานหรือคัดกรองความรู้สึกนั้น เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสม โดยประสาทสัมผัสทั้ง 7 ที่ว่านี้ ประกอบไปด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่เราคุ้นเคย คือ การสัมผัส (ทางผิวหนัง) การได้ยิน การมองเห็น การได้กลิ่น และการรับรส

รวมกับประสาทสัมผัสอีก 2 อย่างคือ...

     ระบบการทรงตัว (Vestibular system) หรือประสาทสัมผัสที่ 6 ระบบนี้มีอวัยวะรับความรู้สึกอยู่ในหูชั้นใน ซึ่งจะทำงานทันทีที่ศีรษะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแนวกลางลำตัว ส่งผลให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุล ไม่ล้มลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว

     เด็กที่มีปัญหาในระบบนี้ อาจแสดงออกโดยการแสดงอาการกลัวเมื่อต้องเคลื่อนไหวอยู่บนพื้นที่ไม่ราบเรียบ โยกเยก สูงจากพื้น ทำให้มีลักษณะการเคลื่อนไหวที่งุ่มง่าม ไม่คล่องแคล่วสมวัย ไม่ชอบปีนป่าย หรือขึ้นลงบันได เป็นต้น

     การรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ (Proprioceptive sense) หรือประสาทสัมผัสที่ 7 ซึ่งระบบนี้มีอวัยวะรับความรู้สึกอยู่ที่กล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อทั่วร่างกาย ซึ่งจะทำงานทันทีที่ข้อต่อถูกกระแทกเข้าหากันหรือถูกดึงออกจากกัน ส่งผลให้เรารับรู้ตำแหน่งส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทราบถึงทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนไหวของแขนขาได้ดี

     เด็กที่มีปัญหาในระบบนี้ มักหกล้มบ่อย มีความยากลำบากในการใช้มือ ไม่สามารถคาดคะเนแรงที่ต้องใช้ในกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม เช่น เขียนหนังสือด้วยแรงกดที่มากเกินไปจนกระดาษทะลุ หรือเขียนเส้นบางมากจนเกินไป เป็นต้น

     เมื่อเด็กรับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้ามา แล้วสามารถควบคุมสิ่งเร้าคือการรับความรู้สึกต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะเป็นการกระตุ้นกลไกการทำงานของสมองให้สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดีขึ้น แต่เด็กบางคนจะมีปัญหานี้ เช่น เด็กออทิสติก จึงต้องมีการใช้หลัก Multisensory Integration คือการเล่นที่ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกๆ ส่วนมาบำบัดเด็กกลุ่มนี้

      สำหรับเด็กทั่วไป เมื่อมีการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 7 ด้วยการเล่น พบว่าเด็กที่ได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วน จะมีพัฒนาการทางสติปัญญา (IQ) สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้น ถึง 10-15 จุด

การเล่นเพื่อกระตุ้น 7 Senses

  • การเล่นที่ดีคือ การเล่นที่เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายๆ อย่าง หรือ Multisensory Integration ในชีวิตประจำวันมีการเล่นหลากหลายอย่างที่สามารถนำไปเล่นกับลูกวัย 6-12 เดือนได้ เช่น ...
  • การนวดตัวเด็ก – ช่วยพัฒนาการรับสัมผัส การรับรู้แรงกดของผู้นวด การที่คนนวดสบตากับเด็กช่วยพัฒนาการมอง ขณะที่นวดไปพูดคุยไปด้วยพัฒนาการได้ยิน (รวมทั้งภาษา) กลิ่นตัวของคนนวดช่วยพัฒนาการได้กลิ่น การนวดไปตามอวัยวะต่างๆ ช่วยพัฒนาการรับรู้เรื่องตำแหน่งของอวัยวะ
  • การเล่นจ๊ะเอ๋ – ช่วยพัฒนาการมอง การฟังเสียง หากมีการล่อหลอกให้เด็กเดิน เพื่อมองหาคนที่เล่นด้วย จะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวให้เด็กได้
  • การเล่นลูกบอล – ขณะบีบขยำลูกบอลช่วยพัฒนาเรื่องข้อต่อ กล้ามเนื้อมือ สีสันของลูกบอลช่วยพัฒนาการมอง การที่ผู้ใหญ่โยนลูกบอลแล้วให้เขากระโดรับจะช่วยพัฒนาข้อต่อ และการทรงตัว เป็นต้น
  • เล่นกับฟองสบู่ – ฝึกการมองและสัมผัส โดยเด็กๆ มองตามฟองสบู่ที่ลอยละล่องขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่แตะฟองสบู่มาให้ลูกดูเต็มๆตรงหน้า แล้วเอามือลูกไปแตะฟองสบู่ เมื่อเด็กเห็นฟองสบู่แตกหายไป เขาอาจจะประหลาดใจ (เป็นการฝึกการหายไป การคงอยู่ของวัตถุได้อย่างดี)
  • ชวนเล่นกับกระจก - กระจกเป็นของเล่นใกล้ตัว และเด็กๆ ชอบ โดยปกติ เด็กจะให้ความสนใจกับรูปทรงต่างๆ บนใบหน้า และการที่เด็กได้มองกระจก ถือว่าเป็นของเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์ สามารถสื่อสารกลับมาสู่เขาได้ เพราะเมื่อเด็กมีการเคลื่อนไหว เงาในกระจกก็เคลื่อนไหวตามไปด้วย เหมือนกับเด็กมีเพื่อนเล่นอยู่ด้วยอีกคน รวมทั้งกระจกยังช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส กระตุ้นความสนใจใคร่รู้ที่เป็นลักษณะเฉพาะของเด็กที่จะจ้องมองและสัมผัสสิ่งต่างๆ ซึ่งจะทำให้เขาจำตัวเองได้เวลาเขาเห็นเงาในกระจก และจำตัวเองได้ว่าเขามีรูปร่างหน้าตาแบบนี้นี่เอง
https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%207%20Senses...%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99