พัฒนาการอ่าน-เขียนลูก..ให้ถูกทาง
view 3,638
เด็กวัย 3 ขวบขึ้นไป เขาเรียนชั้นอนุบาลแล้ว และเริ่มเรียนรู้ทักษะทางภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาพูด ได้แก่ ภาษาอ่าน ภาษาเขียน ซึ่งการสอนให้เด็กพัฒนาทักษะเหล่านี้ไม่ควรเน้นที่การอ่านแบบท่องจำหรือเขียนให้ถูกต้องสวยงาม ควรใช้วิธีการสอนที่เชื่อมโยงจากชีวิตประจำวันของเขา มีความหมายกับกับตัวเขา เช่น ก่อนที่ลูกจะเขียน ก-ฮ ได้ทั้งหมด เขาควรจะได้รู้จักตัวอักษรที่เป็นชื่อของเขาก่อน จากนั้นจึงจะขยายไปสู่การรู้จักอักษรอื่นๆ ต่อไป และควรสอนโดยเชื่อมโยงจากพื้นฐานความเข้าใจภาษาที่มีอยู่ ผ่านการจดจำสัญลักษณ์หรือตัวอักษรง่ายๆ ที่สัมพันธ์กับฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน แต่มีความหมายแตกต่างกัน เช่น เสียง ข ไข่ออกเสียงคล้าย ค ควาย และมีความแตกต่างจากเสียง ง งู คุณแม่ไม่ควรเน้นการอ่านแบบท่องจำ หรือการเขียนหนังสือให้สวย แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังอ่านหรือเขียนอยู่ เช่น ต สระอา อ่านว่า “ตา” ซึ่งหมายถึง พ่อของแม่ หรืออวัยวะที่ใช้ในการมองเห็น แต่ถ้า ต สระอี อ่านว่า “ตี” หมายถึง วิธีการลงโทษเมื่อเด็กทำผิด หรือไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่
ส่วนการสอนวิธีการอ่านที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้อ่านแบบแจกแจงรูปคำพร้อมทั้งดูภาพประกอบ ไม่ใช่การอ่านแบบจำรูปคำนั้นทั้งคำ เช่น รูปคำว่า “ตา” แล้วเชื่อมโยงกับความหมายตามรูปภาพ เพราะการสอนอ่านแบบท่องจำ ลูกน้อยจะต้องใช้ความจำมากในการอ่านคำที่แตกต่างกัน ขณะอ่านหนังสือกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรถามคำถาม หรือฝึกให้ลูกน้อยเล่าเรื่องราวที่พบในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและการอ่านให้ดีมากยิ่งขึ้น
ทักษะพื้นฐานที่สำคัญทางภาษาเพื่อการเรียนรู้อีกเรื่องหนึ่ง คือ จำนวนหรือตัวเลข แม้คณิตศาสตร์จะต่างจากภาษาศาสตร์ แต่การเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยจำเป็นต้องใช้ภาษา ซึ่งเด็กพูดได้เป็นสื่อกลาง พ่อแม่ควรมีความเข้าใจก่อนว่า พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของจำนวนหรือตัวเลขมีความสำคัญอย่างยิ่ง เด็กจำนวนมากอาจท่องจำ 1-10 หรือ 1-50 ได้ แต่ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอย่างไร เด็กควรเรียนรู้หลักการของจำนวน 1-10 หรือ 20 ได้อย่างแม่นยำก่อนที่จะหัดบวกลบเลขจากโจทย์ ในชีวิตประจำวันเขาควรถูกสอนให้เข้าใจจำนวนจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ขนม 2 ชิ้น คืออย่างไร นก 3 ตัวคืออย่างไร จำนวน 5 แตกต่างจากจำนวน 6 อย่างไร การเพิ่มหรือการลดจำนวนสวนจากภาษาที่ใช้ เช่น "ได้เพิ่มมาอีก" "บินหายไป" “ลดลง” เป็นต้น เมื่อเด็กมีความเข้าใจพื้นฐานสิ่งเหล่านี้ได้ถูกต้องแม่นยำแล้วการเชื่อมโยง ไปสู่ความหมายของสัญลักษณ์และการเรียนรู้คณิตศาสตร์ขั้นถัดไปจะเกิดได้อย่างต่อเนื่องถูกต้อง |
|
|