รู้จักระบบประสาทสัมผัสของลูกน้อยในครรภ์

view 4,210

เมื่อลูกเริ่มรู้สึกถึงการสัมผัส
ในสัปดาห์ที่ 8 ลูกในครรภ์เริ่มรู้สึกและรับรู้ถึงการสัมผัสแล้ว ในระยะแรกที่น้ำหนักตัวยังน้อย ทารกสามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้สะดวก แต่เมื่อน้ำหนักมากขึ้น ทารกจะจมลงสู่ฐานของมดลูกของแม่ เกิดการสัมผัสระหว่างผิวหนังของทารกกับผิวด้านในของมดลูก ซึ่งเป็นการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึก เสริมสร้างให้เกิดใยประสาทของการรับความรู้สึกมากขึ้น นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของน้ำคร่ำในมดลูก และรอบ ๆ ตัวทารก เปรียบเสมือนมือแม่ที่คอยลูบไล้ตัวลูก ช่วยพัฒนาระบบประสาทรับความรู้สึก อีกทั้งขณะที่แม่เคลื่อนไหว ทารกในครรภ์จะเอนตัวไปตามจังหวะการเคลื่อนไหวนั้น ผิวหนังของทารกจะได้รับการสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูกตลอดเวลา ทำให้ระบบประสาทส่วนนี้พัฒนาได้ดี

รับรู้เสียง...เป็นลำดับต่อมา
ระบบประสาทรับสัมผัสที่เกิดขึ้นต่อมาจากผิวหนังก็คือ หู ซึ่งจะเริ่มสร้างขึ้นตอน 18 สัปดาห์ แต่จะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อถึงช่วง 24-26 สัปดาห์ ทำให้ลูกในครรภ์รับรู้เสียงได้แล้ว แต่เสียงที่เด็กได้ยิน ไม่ใช่เสียงที่ชัดเจนเหมือนที่เราได้ยิน เด็กได้ยินเสียงเหมือนเราได้ยินเสียงในน้ำ คือเสียงจะค่อนข้างอื้อๆ ก้องๆ เสียงการเต้นของหัวใจแม่ เสียงการบีบตัวของลำไส้ เสียงการเคลื่อนไหวของกระแสโลหิตที่อยู่ รอบตัวทารก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการระบบการได้ยิน โดยเฉพาะการเต้นของหัวใจแม่ การวิจัยพบว่าแม่ที่อุ้มลูกโดยให้ศีรษะอยู่ทางซ้ายมือนั้น ลูกจะไม่ค่อยร้องกวน และเลี้ยงง่ายกว่าการอุ้มโดยให้ศีรษะอยู่ทางขวามือทั้งนี้เพราะหัวใจแม่อยู่ ทางซ้าย ลูกจะได้ยินเสียงเต้นของหัวใจชัดเจนกว่าจึงรู้สึกอบอุ่นและหลับง่าย

การมองเห็นของเจ้าตัวเล็กในครรภ์
ทารกจะเริ่มลืมตามองเห็นผนังภายในมดลูกเมื่ออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ผนังมดลูกจะเริ่มบางขึ้น ทำให้แสงสว่างผ่านเข้าสู่ภายในมดลูกได้ จึงเกิดการกระตุ้นระบบการมองเห็นที่ดีได้ แต่ภาพที่ทารกเห็นก็ยังไม่ชัดเจน โดยเห็นภาพเป็นสีแดง เหมือนเรา หลับตาสู้แสงก็จะเห็นแสงทะลุเปลือกตาเข้ามาเป็นสีแดง เมื่อลูกอยู่ภายในมดลูก ก็จะเห็นเหมือนเราแช่อยู่ในถังน้ำทรงกลมใบใหญ่ เมื่อมีแสงจ้า ภายนอกทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวก็จะกลายเป็นสีแดงไปหมด

กลืนน้ำคร่ำเพื่อรับรู้รส
การกลืนเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาของขากรรไกรและกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้ปุ่มรับรสในลิ้นเกิดการพัฒนาด้วย สำหรับการดูดนิ้ว ซึ่งทารกมักทำอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นประสาทการรับรส ทั้งยังเป็นพัฒนาการที่ผสมผสานระหว่างการมองและ การรับรส รวมทั้งการเคลื่อนไหวของมือเข้าด้วยกัน

รับรู้อารมณ์แม่
ความรู้สึกอีกอย่างที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ลูกสามารถรู้สึกได้ นั่นก็คือ "อารมณ์ของคุณแม่" หากคุณแม่อารมณ์ดี มีความสุข ลูกก็มีความสุขด้วย ถ้าแม่เครียด ลูกก็เครียดด้วย แม่ซึ่งเปรียบเสมือนโลกใบเล็กของลูก เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นทุกอย่างของลูก เมื่อแม่มีความสุข สมองของแม่ก็หลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินออกมาทั่วร่างกาย แล้วก็ส่งผ่านไปสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้ลูกรู้สึกดีตามไปด้วย หากคุณแม่โกรธฉุนเฉียว ร่างกายของคุณแม่ก็จะมีฮอร์โมนกระตุ้นทำให้ร่างกายทุกส่วนตึงเครียด รวมทั้งลูกในครรภ์ด้วย

https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C