หลับได้แล้วคนดี
view 13,011
ปัญหาที่เจ้าตัวเล็กหลับยากหลับเย็น คงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หนักใจได้ไม่น้อย ก่อนอื่นอยากให้ทราบข้อเท็จจริงของการนอนเสียก่อนนะคะ
การนอนหลับของมนุษย์นั้นจะมีทั้งหลับตื้น หลับลึก และนอนหลับแบบมีการกลอกตาสลับกันไป ในเด็กทารก จะมีการนอนหลับแบบกลอกตามากกว่า และเด็กจะมีการตื่นขึ้นได้บ่อยกว่าเด็กโต ส่วนความสามารถที่จะหลับต่อนั้นจะค่อยๆ พัฒนาไปตามอายุ กล่าวคือ ในช่วง 3 เดือนแรกเด็กยังต้องปรับตัวกับโลกใหม่ จะมีการตื่นบ่อย มักจะเป็นทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนอาจจะต้องเหนื่อยมากกับ ภาวะนี้เพราะต้องอดนอนดูลูก แต่หลังจาก 3 เดือนไปแล้ว เด็กจะสามารถนอนได้ยาวขึ้น สามารถนอนได้ยาวทีละ 5 ชั่งโมงตอนกลางคืน เช่น หลับยาวหลังเที่ยวคืนถึงเช้าได้ตอนอายุ 3 เดือน ได้ถึง 70 % อายุ 8 เดือนนอนได้ยาว 5 ชั่วโมง 83 % และอายุ 1 ขวบ 90 % ที่จะนอนได้ยาวถึงเช้าโดยไม่ตื่นกลางดึก
ในช่วง 0-6 เดือนนี้ลูกอาจจะมีการตื่นขึ้นมาร้องหรือขยับตัวเป็นพักๆ ถ้าพ่อแม่ตอบสนองต่อการตื่นของลูกทุกครั้ง ไม่ว่าจะโดยการให้กินนมหรืออุ้มก็ตามจะทำให้ลูกไม่ได้ฝึกหลับต่อด้วยตนเอง หลังตื่นขึ้นมาในช่วงหลับแบบกลอกตา และเป็นการสร้างนิสัยการตื่นบ่อยๆ กลางดึกด้วย
สำหรับวิธีที่จะทำให้ลูกนอนหลับได้ยาวนั้น ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย พยายามตอบสนองต่อลูกตอนกลางคืนให้น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ พยายามฝึกนิสัยให้ลูกกลับไปหลับต่อได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีขวดนมเข้าปากหรือแม่กก ตอบสนองช้าที่สุดกับการขยับตัวหรือการร้องของลูกตอนกลางคืน ค่อยๆ ฝึกให้ลูกรู้จักกลางวันกลางคืน ในช่วงสามเดือนแรกคงยากเพราะลูกดูดนมบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมง ยิ่งให้นมแม่ก็มักจะนอนด้วยกันเพราะสะดวกดี ไม่ต้องลุกขึ้นลุกลง โดยทั่วๆ ไปหลัง 4 เดือน ลูกไม่จำเป็นต้องดูดนมรอบดึก ลูกจะหลับลึกหลับตื้นสลับกันไปทั้งคืน ไม่ต้องคอยตอบสนองทุกครั้ง ตอบสนองเท่าที่จำเป็น พยายามฝึกให้ลูกหลับด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตอนกลางวันพยายามให้มื้อนมนั้นห่างขึ้น จะได้ชินกับการได้กินในระยะเวลาที่ห่างกัน
การนอนกับลูกก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ลูกตื่นบ่อย การเคยชินกับการหลับ โดยมีนมอยู่ในปาก หรือมีคนกก ก็อาจจะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้การหลับด้วยตนเอง จะต้องมีการสร้างสุขนิสัยการนอน คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกให้ชินกับการนอนได้ด้วยตัวเองโดยการออกห่างมาหน่อย พยายามฝึกให้ลูกเข้าสู่การนอนด้วยตนเอง พอลูกเคลิ้มๆ ก็ค่อยๆ ถอยห่างออกมา และตอบสนองกับการตื่นตอนกลางคืนของลูกให้ช้าที่สุดและน้อยที่สุด ถ้าจะให้ดีเริ่มแต่เกิด หลัง 4 เดือนพยายามงดนมหลังเที่ยงคืน
สิ่งที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่กังวลมากไม่ต้องกังวลมาก พอลูกโตเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะค่อยๆ คลี่คลาย และพัฒนาการการนอนของลูกจะทำได้ยาวขึ้นตามอายุของลูกที่เพิ่มขึ้นค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ ส่วนหนึ่งจาก พ.ญ.สุดา เย็นบำรุง