อัลตราซาวนด์…ไม่ใช่เพื่อการดูเพศลูก
view 4,033
อัลตราซาวด์ คือการตรวจอวัยวะภายในร่างกายโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งคนไม่สามารถได้ยิน ดังนั้นจึงไม่มีอันตรายจากรังสีเหมือนเครื่องเอกซเรย์ คลื่นเสียงชนิดนี้นิยมใช้ตรวจอวัยวะที่มีน้ำหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในร่างกายเกือบทุกส่วน รวมทั้งการตั้งครรภ์ เมื่อพูดถึงการอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำอัลตราซาวนด์ก็เพื่อดูเพศทารกเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว จุดประสงค์หลักของอัลตราซาวด์ ก็เพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ ตั้งครรภ์อยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ การตั้งครรภ์ปกติ ทารกอยู่หรือไม่ หรือมีทารกกี่คน และมีขนาดเท่ากับอายุครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้ จะตรวจวัดความหนาของผิวหนังตรงต้นคอว่าหนาผิดปกติหรือไม่ เพื่อวินิจฉัยว่าการตั้งครรภ์ดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมมากน้อยแค่ไหน
ส่วนจำนวนครั้งที่ควรทำอัลตราซาวนด์นั้น ตอนนี้ยังไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าการตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ควรจะทำกันกี่ครั้ง แต่วิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกันแนะนำให้ทำเพียงครั้งเดียวตอนอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า คุณแม่ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งของการตั้งครรภ์ ขนาดของทารกในครรภ์ ความผิดปกติของรูปร่าง การทำงานของอวัยวะ ต่างๆ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติโดยกำเนิดที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ที่สะท้อนถึงสุขภาพของทารก ส่วนคุณแม่ที่เป็นกลุ่มคนไข้พิเศษ เช่น มีลูกยาก หรือตั้งครรภ์ด้วยด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วย เช่น ทำกิฟท์ เด็กหลอดแก้ว หรือเป็นกลุ่มตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตั้งครรภ์แฝด มี ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามอายุครรภ์ ซึ่งคุณหมอจะนัดตรวจทำค่อนข้างถี่
ส่วนการทำเพื่อดูเพศลูกนั้นเป็นผลพลอยได้มากกว่า คุณแม่ไม่ควรทำอัลตราซาวนด์ด้วยเหตุผลนี้ เพียงอย่างเดียว แต่หากไหนๆ ทำแล้วและอยากดูเพศลูกก็ได้ ส่วนใหญ่สามารถดูเพศได้เมื่ออายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอถึงความจำเป็นของการทำอัลตราซาวนด์ได้ค่ะ
|
|