อาหารคนท้องเพื่อคุณแม่มือใหม่
view 5,464
คนตั้งท้องต้องได้รับสารอาหารมากเป็นพิเศษ และคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่เองควรใส่ใจดูแลเรื่องนี้กันเป็นพิเศษ เพราะช่วงท้อง คุณแม่จะมีเจ้าตัวน้อยในท้องที่ต้องการสารอาหารที่เราทานเข้าไป เพื่อการเจริญเติบโตด้วย คุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการกินเป็นอย่างมาก โดยแต่ละไตรมาสนั้น อาจมีรายละเอียดของอาหารที่กินแตกต่างกันไปบ้าง
ในช่วงท้องไตรมาสแรกหรือ 3 เดือนแรก หากไม่มีอาการแพ้ท้องมากนัก คุณแม่ก็สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ คือครบ 5 หมู่ แต่อาจเพิ่มโปรตีน ผักผลไม้ขึ้นกว่าเดิม เพราะช่วงนี้ทารกจำเป็นต้องใช้วิตามินบีสูงในการสร้างระบบประสาทที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรก ช่วงนี้น้ำหนักของคุณแม่อาจยังไม่เพิ่มหรือเพิ่มไม่มากนัก เพราะลูกน้อยยังเจริญเติบโตไม่มาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ขนมหวาน และไขมัน เพราะหากกินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้ง่าย น้ำหนักที่เพิ่มจะไปอยู่ที่ตัวคุณแม่มากกว่าลูก ที่สำคัญลูกไม่ได้รับสารอาหารอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ในรายที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก การดูแลเรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ปัญหาของคุณแม่ที่แพ้ท้องก็คือ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีกลิ่นคาว ทำให้ช่วงนี้อาจรับประทานอาหารประเภทโปรตีนไม่ค่อยได้ อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนของภาวะแพ้ท้องก็คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นลมได้ง่าย ทำให้จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่เป็นแป้งและน้ำตาลมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก ก็จำเป็นต้องดูแลภาวะโภชนาการของตัวคุณแม่เป็นสำคัญ เพราะทารกในครรภ์ยังมีขนาดเล็กมาก สารอาหารที่คุณแม่มีสะสมมาแต่เดิมก็อาจมีเพียงพอในช่วงแรกๆ
อาหารที่คนท้องควรงด คืออาหารรสจัด โดยเฉพาะเค็มจัด ซึ่งมีโซเดียมสูง เพราะอาจส่งผลให้ความดันสูงได้ อาหารหมักดองทุกชนิดและอาหารกระป๋อง เพราะอาจมีการปนเปื้อนของสารปรุงแต่งต่างๆ อยากแนะนำให้คุณแม่เพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อด้วย แต่ถ้ายังแพ้ท้องไม่สามารถเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละมื้อได้ คุณแม่อาจมีอาหารว่างระหว่างมื้อ ดื่มนม กินขนมหรือของว่างเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่ 2 และ 3 คุณแม่จะหิวบ่อยและกินเก่งมากขึ้น บางครั้งถึงกับต้องเพิ่มมื้อดึกแถมมาอีกมื้อ แต่จากการที่ลำไส้ทำงานช้าลง และพื้นที่ของลำไส้น้อยลงเมื่อมดลูกโตมากขึ้น หากรับประทานอาหารในปริมาณปกติที่เคยกินก็จะทำให้เกิดอาการจุดเสียดแน่นในท้องได้ง่าย คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ แค่รู้สึกอิ่มก็พอแล้ว กะปริมาณด้วยความรู้สึกอย่ากะด้วยสายตา แต่ด้วยความที่หิวบ่อยขึ้น ก็ให้เพิ่มมื้อให้ถี่มากขึ้น เป็นวันละ 5-6 มื้อแทน ค่อยๆ กิน ค่อยๆ ย่อย กินดีเน้นคุณภาพ ไม่ต้องกินเยอะไม่เน้นปริมาณ อิ่มแบบสบายตัว ไม่อิ่มแบบจุกแน่นล้นถึงคอหอย |
หลังอาหาร คุณแม่ควรเดินเล่น หรือเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้อาหารย่อยก่อน ไม่ควรนอนทันที เพราะจะทำให้แก้สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการย่อยอาหารไม่เรอออกมา ทำให้เกิดอาการแน่นแม้ว่าจะกินดี เคี้ยวดีแล้วก็ตาม หลังจากนั้น หากและควรนอนหัวสูงเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
ขณะตั้งครรภ์ เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ดูแลกันหน่อยนะคะ