เคล็ดลับช่วยลูกรับมือ “เพื่อนจอมเกเร”

view 1,720

     เมื่อลูกเข้าสู่รั้วโรงเรียน โอกาสที่จะเจอเด็กประเภท “ไจแอนท์” ในการ์ตูนโดเรมอนย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องช่วยเตรียมลูกให้ดี หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ถูกเพื่อนแกล้ง หรือมีจอมเกเรร่วมห้อง

children-toys.jpg

     สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือ...

     • อย่าเพิกเฉยเมื่อลูกเล่าว่า ถูกรังแก เพราะลูกต้องใช้ความกล้าอย่างมากเพื่อมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง ฉะนั้นจึงควรตั้งใจฟัง แสดงความคิดเห็น และพยายามเข้าใจความรู้สึกของลูกให้มากที่สุด เพราะการถูกเพื่อนแกล้งสำหรับเด็กนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา (แม้บางครั้งผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย)

     • ควบคุมอารมณ์ เมื่อคุณแม่รับทราบว่าลูกถูกแกล้ง ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน อย่าโวยวายตำหนิลูก ว่าอ่อนแอ หงอจนถูกเพื่อนแกล้ง หรืออย่าทําให้ลูกต้องวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น หรือเข้าข้างลูกจนเกินเหตุ คุณแม่ควรใจเย็น ฟังลูกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเห็นอกเห็นใจ ต้องพยายามถามถึงรายละเอียดอย่างชื่อคนมารังแก เวลา สถานที่ เหตุการณ์แวดล้อมต่างๆ เพื่อค้นหาสาเหตุว่าการถูกรังแกนั้นมาจากลูกของเราหรือมาจากเด็กที่มารังแกลูก จากนั้นร่วมกันกับลูกในการแก้ไขปัญหา

     • บอกลูกก่อนลงมือจัดการ โดยทำให้ลูกมั่นใจว่า สิ่งที่คุณแม่จะทำนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อลูก ว่าลูกจะไม่ถูกรังแกเพิ่มขึ้นและไม่ถูกกีดกันออกจากลุ่มเพื่อน

     • แนะนำให้ลูกลดการตอบสนอง และสอนให้ลูกรู้จักแก้ปัญหา โดยสอนให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะจะทำให้เขากล้าแสดงออก กล้าทำในสิ่งต่าง ๆ และผลักดันให้เขากล้าที่จะบอกกล่าว หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อถูกรังแกด้วยตัวของเขาเอง รวมทั้งสอนลูกให้รู้จักระวังตัวเอง เช่น รู้จักหลบเลี่ยงไม่ไปเล่นกับเพื่อนที่ชอบรังแกคนนั้น หรือไปไหนก็ไปเป็นกลุ่ม ไม่อยู่ลำพังคนเดียว

     • อย่าให้ลูกตอบโต ที่สำคัญ ไม่ควรแนะให้ลูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงเมื่อถูกรังแกเพราะจะบ่มเพาะทัศนคติเรื่องการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาให้ลูก หากเป็นไปได้ลองให้ลูกสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนเกเรคนนั้นแทน เช่น อาจจะชวนทานขนม ชวนเล่นของเล่นด้วยกัน อาจทําให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้

     • พูดคุยและขอความร่วมมือกับคนที่เกี่ยวข้อง หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยลูก โดยอาจปรึกษาคุณครู ให้คุณครูช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง หรือพูดคุยปรึกษากับผู้ปกครองของเด็กคนนั้นและหาทางคลี่คลายเรื่องนี้ร่วมกัน โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

ความเข้าใจและการจัดการด้วยความใจเย็นของคณแม่ จะช่วยให้ลูกผ่านปัญหานี้ไปได้ค่ะ

https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20%E2%80%9C%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E2%80%9D