เล่นดี สมองดี มีศักยภาพ

view 5,076

คุณแม่อาจคิดไม่ถึงว่า การเล่นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ และอาจสงสัยว่าลูกอยู่ในครรภ์ เราจะเล่นกับเขาได้อย่างไร???

คุณแม่สามารถเล่นกับลูกในครรภ์ได้ โดยการเล่นในช่วงนี้เป็นการเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ของเขา การเล่นนี้จะมีผลทั้งด้านสมองและพัฒนาการของลูก ซึ่งสมองลูกจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถ้าระบบประสาทสัมผัสได้รับการกระตุ้นให้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ

ดังนั้นคุณแม่จึงควรได้รู้จักพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสของลูกน้อยในครรภ์ เพื่อจะได้เล่นกระตุ้นเขาได้อย่างถูกต้อง

สัมผัสจากแม่...ส่งถึงลูกได้
ยอดคุณแม่รู้ไหมคะว่าระบบประสาทสัมผัสของเจ้าตัวเล็กในท้องมีพัฒนาการในเวลาที่ต่างกัน

  •  ตั้งแต่ 8 สัปดาห์ เขาจะเริ่มรู้สึกถึงการสัมผัส 
  •  18 สัปดาห์ เขาเริ่มได้ยินเสียง 
  •  28 สัปดาห์ เขาเริ่มเห็นแสง

photo_120.gif


      ระหว่างที่ลูกน้อยในท้องนอนหลับและตื่นทุกๆ 20-40 นาที
      เขาจะรู้จักเสียง รับรู้สัมผัสต่างๆ จากเราได้ทั้งการลูบหน้าท้อง
      หรือนวดเบาๆ และตอบรับเราด้วยการขยับตัวเคลื่อนไหวนั่นเอง

เวลาที่เราเล่นกับลูกก็เท่ากับช่วยเพิ่มพลังสมองให้ลูก     
ด้วยนะคะ เพราะระหว่างที่เล่น คลื่นสมองของเจ้าตัวเล็ก     
จะพัฒนาได้เต็มที่และยังสามารถเพิ่มการรับรู้ได้เป็น     
อย่างดีด้วยค่ะ ที่สำคัญยังมีส่วนต่อพัฒนาการด้านร่างกาย     
อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของเจ้าตัวเล็กได้ในเวลา     
พร้อมๆกันด้วย     
photo_109.gif

คุณแม่คะ ยังมีการศึกษาอีกว่า เซลล์สมองของเด็กอายุ 3 ขวบแรกที่โตมากับสิ่งแวดล้อมที่มีการเล่นและการกระตุ้นอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยเพิ่มการส่งสัญญาประสาทในสมอง และการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท ที่ส่งผลสำคัญไปสู่การพัฒนาของสมองได้เลยนะคะ

เล่นกับลูกในท้องแบบไหนดีล่ะ?
เรามากระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทั้ง 3 ของลูกได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เป็นการช่วยพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กได้เป็นอย่างดีเลย

การได้ยิน : เราควรพูดกับลูกบ่อยๆ คุณแม่ลองใช้น้ำเสียงนุ่มนวลน่าฟังและพูดประโยคเดิมซ้ำๆ ให้ลูกคุ้นเคยดูนะคะ วิธีนี้จะช่วยให้ระบบประสาทและสมอง ที่ควบคุมการได้ยินของเจ้าตัวเล็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอดด้วยค่ะ

การสัมผัส : หมั่นลูบท้องตัวเองเบาๆ เริ่มจากด้านล่างขึ้นไปถึงสะดือ ระหว่างนั้นให้คุณแม่พูดกับลูกด้วยว่าแม่กำลังอะไรอยู่ รู้ไหมคะว่าวิธีนี้จะช่วยพัฒนาระบบประสาทของลูก ถ้าเราลูบท้องแล้วเจ้าตัวเล็กดิ้นแปลว่าลูกรับรู้แล้ว แต่ให้ระวังถ้าคุณแม่ลูบท้องแล้วเกิดอาการมดลูกหดรัดตัว ให้หยุดเลยค่ะและควรไปพบคุณหมอทันที

การมองเห็น : อย่าแปลกใจไปเลยนะคะว่า อยู่ในท้องมืดๆ อย่างนั้นเจ้าตัวเล็กจะเห็นได้อย่างไรเพราะเมื่อไหร่ที่ย่างเข้าเดือนที่ 7 เจ้าตัวเล็กจะเริ่มกระพริบตาเพื่อตอบสนองกับแสงแล้วค่ะ เวลานี้คุณแม่อย่างเราลองเล่นกับลูกด้วยการเอาไฟฉายส่องที่หน้าท้องสิคะ วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง เส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็น จะได้เตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นหลังคลอดได้ค่ะ

รู้จักระบบประสาทสัมผัสของลูกน้อยในครรภ์

เมื่อลูกเริ่มรู้สึกถึงการสัมผัส
ในสัปดาห์ที่ 8 ลูกในครรภ์เริ่มรู้สึกและรับรู้ถึงการสัมผัสแล้ว ในระยะแรกที่น้ำหนักตัวยังน้อย ทารกสามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้สะดวก แต่เมื่อน้ำหนักมากขึ้น ทารกจะจมลงสู่ฐานของมดลูกของแม่ เกิดการสัมผัสระหว่างผิวหนังของทารกกับผิวด้านในของมดลูก ซึ่งเป็นการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึก เสริมสร้างให้เกิดใยประสาทของการรับความรู้สึกมากขึ้น นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของน้ำคร่ำในมดลูก และรอบ ๆ ตัวทารก เปรียบเสมือนมือแม่ที่คอยลูบไล้ตัวลูก ช่วยพัฒนาระบบประสาทรับความรู้สึก อีกทั้งขณะที่แม่เคลื่อนไหว ทารกในครรภ์จะเอนตัวไปตามจังหวะการเคลื่อนไหวนั้น ผิวหนังของทารกจะได้รับการสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูกตลอดเวลา ทำให้ระบบประสาทส่วนนี้พัฒนาได้ดี

รับรู้เสียง...เป็นลำดับต่อมา
ระบบประสาทรับสัมผัสที่เกิดขึ้นต่อมาจากผิวหนังก็คือ หู ซึ่งจะเริ่มสร้างขึ้นตอน 18 สัปดาห์ แต่จะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อถึงช่วง 24-26 สัปดาห์ ทำให้ลูกในครรภ์รับรู้เสียงได้แล้ว แต่เสียงที่เด็กได้ยิน ไม่ใช่เสียงที่ชัดเจนเหมือนที่เราได้ยิน เด็กได้ยินเสียงเหมือนเราได้ยินเสียงในน้ำ คือเสียงจะค่อนข้างอื้อๆ ก้องๆ

เสียงการเต้นของหัวใจแม่ เสียงการบีบตัวของลำไส้ เสียงการเคลื่อนไหวของกระแสโลหิตที่อยู่ รอบตัวทารก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการระบบการได้ยิน โดยเฉพาะการเต้นของหัวใจแม่ การวิจัยพบว่าแม่ที่อุ้มลูกโดยให้ศีรษะอยู่ทางซ้ายมือนั้น ลูกจะไม่ค่อยร้องกวนและเลี้ยงง่ายกว่าการอุ้มโดยให้ศีรษะอยู่ทางขวามือ ทั้งนี้เพราะหัวใจแม่อยู่ทางซ้าย ลูกจะได้ยินเสียงเต้นของหัวใจชัดเจนกว่าจึงรู้สึกอบอุ่นและหลับง่าย

การมองเห็นของเจ้าตัวเล็กในครรภ์
ทารกจะเริ่มลืมตามองเห็นผนังภายในมดลูกเมื่ออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ผนังมดลูกจะเริ่มบางขึ้น ทำให้แสงสว่างผ่านเข้าสู่ภายในมดลูกได้ จึงเกิดการกระตุ้นระบบการมองเห็นที่ดีได้ แต่ภาพที่ทารกเห็นก็ยังไม่ชัดเจน โดยเห็นภาพเป็นสีแดง เหมือนเราหลับตาสู้แสงก็จะเห็นแสงทะลุเปลือกตาเข้ามาเป็นสีแดง เมื่อลูกอยู่ภายในมดลูก ก็จะเห็นเหมือนเราแช่อยู่ในถังน้ำทรงกลมใบใหญ่ เมื่อมีแสงจ้า ภายนอกทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวก็จะกลายเป็นสีแดงไปหมด

กลืนน้ำคร่ำเพื่อรับรู้รส
การกลืนเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาของขากรรไกรและกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้ปุ่มรับรสในลิ้นเกิดการพัฒนาด้วย สำหรับการดูดนิ้ว ซึ่งทารกมักทำอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นประสาทการรับรส ทั้งยังเป็นพัฒนาการที่ผสมผสานระหว่างการมองและการรับรส รวมทั้งการเคลื่อนไหวของมือเข้าด้วยกัน

รับรู้อารมณ์แม่
ความรู้สึกอีกอย่างที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ลูกสามารถรู้สึกได้ นั่นก็คือ "อารมณ์ของคุณแม่" หากคุณแม่อารมณ์ดี มีความสุข ลูกก็มีความสุขด้วย ถ้าแม่เครียด ลูกก็เครียดด้วย แม่ซึ่งเปรียบเสมือนโลกใบเล็กของลูก เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นทุกอย่างของลูก เมื่อแม่มีความสุข สมองของแม่ก็หลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินออกมาทั่วร่างกาย แล้วก็ส่งผ่านไปสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้ลูกรู้สึกดีตามไปด้วย หากคุณแม่โกรธฉุนเฉียว ร่างกายของคุณแม่ก็จะมีฮอร์โมนกระตุ้นทำให้ร่างกายทุกส่วนตึงเครียด รวมทั้งลูกในครรภ์ด้วย

การออกกำลังกายของแม่...ช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสลูกน้อย
นอกจากจะให้ผลดีกับอารมณ์และร่างกายคุณแม่แล้ว การออกกำลังกายยังช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสลูกในครรภ์ได้อย่างดี เพราะขณะที่คุณแม่เคลื่อนไหว ผิวของลูกน้อยจะสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูก ซึ่งการสัมผัสนี้จะช่วยพัฒนาเส้นใยสมองส่วนรับความรู้สึกของลูกให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งหลักการออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม ได้แก่....

การเดิน
การว่ายน้ำ
การแอโรบิกในน้ำ
การเล่นโยคะ
การเต้นรำ
การยืดกล้ามเนื้อ ฯลฯ

กิจกรรมการเล่น เพื่อพัฒนาลูกในท้อง

  • รูปที่มองแล้วสบายใจ
    อาจจะเป็นรูปที่เราชอบ อย่างรูปวิว รูปเด็กหน้าตาน่ารักๆ มาดูบ่อยๆ แล้วนึกถึงเจ้าตัวเล็กในท้องบ่อยๆ ลูบท้องเป็นวงกลมรอบสะดือเบาๆ เชื่อไหมคะแค่นี้ลูกน้อยก็จะรับรู้ได้ถึงความรักจากคุณแม่อย่างคุณแล้ว
    ดีกับเจ้าตัวเล็กอย่างไร : จะทำให้ลูกอารมณ์ดี สดใส เป็นเด็ก เลี้ยงง่ายหลังคลอด
  • คุยกับลูก เวลาลูกดิ้น
    ลูกดิ้นเมื่อไหร่ก็ให้คุยกับลูกนะคะ อาจตบท้องเบาๆ ทักทายลูกด้วย เป็นสัญญาณบอกลูกว่า “รู้แล้วจ๊ะว่าหนูกำลังดิ้น”
    ดีกับเจ้าตัวเล็กอย่างไร : เป็นการสร้างความผูกพัน ความอบอุ่น ให้ลูก
  • นั่งเก้าอี้โยก
    คุณแม่ลองหาเก้าอี้โยกมาสักตัววางไว้ที่มุมโปรด เอาไว้นั่งเล่น ตอนอ่านหนังสือหรือฟังเพลง
    ดีกับเจ้าตัวเล็กอย่างไร : การทรงตัวอย่างสม่ำเสมอบนเก้าอี้โยกของเราจะช่วยให้เจ้าตัวเล็กเรียนรู้การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาระบบประสาทการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวเล็กได้ค่ะ
  • คุณพ่อก็คุยกับลูกได้
    ใช้วิธีคุยผ่านหน้าท้องของคุณแม่ อาจลูบหน้าท้องเบาๆ
    ดีกับเจ้าตัวเล็กอย่างไร : ลูกจะได้คุ้นเคยกับเสียงและสัมผัสไงคะ
  • ให้คุณพ่อนวดท้องคุณแม่เบาๆ
    ปล่อยให้คุณแม่นั่งบนเบาะนุ่มๆ สบายๆ ส่วนคุณพ่อก็นั่งอยู่ด้านหลัง แล้วนวดหน้าท้องให้เราเบาๆ
    ดีกับลูกอย่างไร : จะทำให้คุณแม่อย่างเรามีความสุขและสบายใจ ซึ่งตอนนั้นร่างกายเราก็จะผลิตสารแห่งความสุขออกมา และส่งผ่านไปถึงเจ้าตัวเล็กด้วยค่ะ ทำให้ลูกอารมณ์ดี และสมองก็พัฒนาเต็มที่ เช่นกัน
https://mjn.enfababy.com:443/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%20%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B5%20%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E