เรียนรู้การนอนของทารกแรกเกิด วัย 6 เดือนแรก
view 22,371
ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มักใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการนอน โดยทั่วไปแล้วในช่วง 1-2 เดือนแรก ทารกมักจะนอนมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ คือ นอนวันละ 16-18 ชั่วโมง แต่เป็นการหลับช่วงสั้นๆ สลับกับการตื่นไปตลอดทั้งวันและทั้งคืน โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกๆ แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ลูกจะนอนนานขึ้นในตอนกลางคืน และนอนน้อยลงในตอนกลางวัน ในช่วงอายุ 3-12 เดือน จะนอนวันละ 14-16 ชั่วโมง นอนครั้งละนานๆ และลูกจะรู้จักนอนหลับยาวตลอดคืนเมื่อราวอายุ 10-12 เดือน
|
ในระยะ 6-8 สัปดาห์แรกเกิด ลูกน้อยยังไม่สามารถตื่นและอยู่ได้นานเกิน 2 ชั่วโมงในแต่ละครั้งที่ตื่น ถ้าคุณรอให้นานเกิน 2 ชั่วโมงแล้วค่อยวางลูกลงวางบนที่นอน ลูกจะรู้สึกเหนื่อยและเพลียเกินไป จนไม่สามารถหลับได้สนิทดี คุณแม่ควรสังเกตว่าลูกมีอาการง่วงหรือไม่ อาการคือ ลูกเริ่มเอามือขยี้ตา ดึงทึ้งหูตัวเอง หรือมีรอยคล้ำรอบๆ ดวงตา ถ้าคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้แล้ว ให้รีบพาลูกเข้านอนทันที หากคุณแม่สังเกตและทำความรู้จักลูกไปเรื่อยๆ ก็จะมองออกว่า อาการของลูกน้อยตอนนี้เป็นอย่างไร ลูกเราต้องการอะไร คุณจะเริ่มเรียนรู้จังหวะและรูปแบบกิจวัตรประจำวัน ของลูกไปเองโดยสัญชาติญาณว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูก เช่น เมื่อไหร่ที่ลูกเราต้องการนอน เมื่อไหร่ที่ลูกหิวนม เมื่อไหร่ที่ลูกอยากจะเล่น |
|
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนแรกๆ ลูกจะหลับสบายขึ้นและนอนได้นานๆ หากคุณแม่ห่อตัวลูก หรือวางผ้าไว้ที่หน้าอก หรือหลังของลูก ลูกจะรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น เมื่อลูกอาบน้ำแล้วได้ทานนมจนอิ่ม มักจะหลับได้โดยง่าย แต่บางครั้งลูกยังต้องการให้คุณแม่หรือคุณพ่อมาช่วยกล่อมให้รู้สึกผ่อนคลาย
เด็กเล็กๆ บางคนอาจจะมีลักษณะของการนอนที่ไม่เหมือนใคร เช่น นอนน้อยตื่นบ่อย ซึ่งถ้าลูกยังร่าเริง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ ดื่มนมได้เป็นปกติ ก็ไม่ควรกังวล ลูกจะค่อยๆ ปรับตัวได้เองในที่สุดค่ะ