ขอหนูเล่นแบบ (เป็น) อิสระหน่อยนะ
view 2,942
การเล่นแบบอิสระ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Unstructured Free Play นั้น คือกิจกรรมที่เด็กสามารถทำได้เอง เลือกเล่นเอง โดยไม่ได้เกิดจากการตีกรอบหรือบังคับโดยผู้ใหญ่ เป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการผ่านการเล่น เช่น การเล่นกับตุ๊กตา หรือเล่นต่อบล็อก จิ๊กซอว์ การเล่นกลางแจ้ง ฯลฯ การเล่นรูปนี้เป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา และทักษะทางอารมณ์ และสังคมของเด็กทุกคน...นับตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงเด็กโต ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหลายต่อหลายคนกังวลตรงกันว่า ปัจจุบัน พ่อแม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เชื่อ (อย่างผิดๆ) ว่าการเล่นแบบอิสระเป็นเรื่องเสียเวลา
ข้อกังวลดังกล่าวเกิดจากสถานการณ์ที่ว่าในปัจจุบันพ่อแม่มักจัดตาราง "กิจกรรมสร้างเสริมทักษะ" ต่างๆ ให้ลูกจนแน่นไปหมด เพราะเชื่อว่านั่นจะเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กเป็นผู้ "มีความรู้" (ซึ่งแตกต่างแน่นอนกับการเป็น "ผู้เรียนรู้") เพื่อพร้อมจะไปแข่งขันและชนะในสนามวิชาการในระบบโรงเรียนเมื่อโตขึ้น โดยหลงลืมข้อเท็จจริงข้อหนึ่งไปว่า "เด็ก...โดยเฉพาะเด็กเล็กนั้นจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการเล่น" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กอธิบายว่าการเล่นนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกาย เน้นการพัฒนาทางจิตใจ-อารมณ์ และเน้นการสร้างเสริมจินตนาการ แต่โดยรวมๆ แล้ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า การเล่นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ
- การเล่นแบบอิสระที่เด็กเป็นผู้คิดริเริ่ม และ
- การเล่นแบบที่มีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้นำ กำหนด หรือควบคุม (หรือเรียกว่า "การเล่นอย่างมีแบบแผน")
การเล่น 2 แบบนี้ การเล่นแบบอิสระที่เด็กเป็นผู้คิดริเริ่มนั้นมีความสำคัญยิ่ง นั่นเพราะการ เล่นแบบนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เด็กค้นพบวิธีจัดการอารมณ์ของตนเอง โดยเฉพาะความกลัวและความวิตกกังวล เป็นหนทางในการพัฒนา "ตัวตน" และทำให้เด็กตระหนักว่าตนเองก็เป็นคนสำคัญที่มีความคิดอ่านของตนเองไว้พร้อม แลกเปลี่ยนกับคนอื่น และเป็นคนที่พร้อมจะปรับตัวเข้ากับผู้คนรอบตัวได้อย่างสบาย
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยต่างยืนยันตรงกันว่า การให้เด็กๆ เล่นอย่างมีแบบแผนบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร หนำซ้ำยังเป็นตัวช่วยพัฒนาการบางอย่างให้เด็กได้ด้วย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตเวลา ไม่ใช่การนำมาแทนที่หรือกินเวลาการเล่นแบบอิสระของเด็กไปเกือบทั้งหมด
เหตุผลที่ควรส่งเสริมให้เด็กๆ มีโอกาสเล่นแบบอิสระมากขึ้นก็คือ ถ้าเรากำหนดสิ่งแวดล้อมให้เด็กต้อง "อยู่ว่างๆ / อยู่เฉยๆ" นานเพียงพอสักระยะหนึ่งได้ (คือปลอดจากอุปกรณ์หรือของเล่นไฮเทคทุกชนิดที่พ่อแม่ยุคใหม่มักจัดหามาให้ ลูก) เด็กจะเริ่มเกิดอาการเบื่อ ในที่สุด กระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในสมองของเด็กก็จะทำงานและหาทางพาตัวเองหลุด พ้นจากความเบื่อที่ต้องอยู่เฉย / อยู่ว่างไปสู่สิ่งที่สุข / สนุกด้วยตัวของเขาเอง โดยมีผู้ใหญ่ซึ่งเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความเบื่อหน่ายกับความคิดสร้าง สรรค์คอยเป็นผู้สร้างโอกาส จัดพื้นที่ รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานจำเป็นอย่างง่ายๆ ให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระและปลอดภัย