สมาธิลูกไม่ดี...การเล่นช่วยได้
view 3,099
เราต่างก็ทราบดีว่า เด็กวัยนี้นั้นช่วงความสนใจหรือสมาธิต่อเรื่องต่างๆ ของเขายังมีน้อย ยิ่งหากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ วุ่นวาย หรือถูกปล่อยให้อยู่กับทีวี หรือของเล่นสำเร็จรูปมากมายหลายชิ้น จะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ลูกสนใจอะไรได้ไม่นาน มีสมาธิน้อย คุณแม่บางท่านเห็นลูกนั่งหน้าจอทีวีได้นานก็คิดว่า ลูกมีสมาธิดี จริงๆ แล้ว สิ่งที่เด็กสนใจมองคือสีและภาพต่างๆ ที่เป็นช่วงสั้นๆ ต่อๆ กัน การดูโทรทัศน์ของเด็กเป็นไปในลักษณะ “กายนิ่ง ใจเคลื่อนไหว” ทีวีจึงไม่ได้ช่วยทำให้เด็กสมาธิเลยค่ะ ตรงกันข้ามกลับทำให้เด็กสนใจกิจกรรมต่างๆ น้อยลง
จริงๆ แล้วเด็กๆ เขาพร้อมจะนั่งนิ่งๆ เรียนรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ หากผู้ใหญ่สามารถหาของเล่นที่ทำให้เขานิ่งกับมันมาให้เขาเล่นได้ อย่างเล่นต่อบล็อก เล่นทราย ปั้นแป้งหรือดินน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นของเล่นง่ายๆ ใกล้ตัว เป็นของเล่นปลายเปิดที่ลูกสามารถพลิกแพลงการเล่นได้หลากหลาย และต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มือและตา ที่กว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงานหนึ่งๆ เด็กต้องนั่งใช้ “ความนิ่ง” จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ ได้เห็นการเปลี่ยนรูปร่างของวัตถุที่เกิดจากนิ้วมือ และการกระทำของเขาเอง
เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาจากคุณพ่อคุณแม่มาเล่นกับเขา มาชวนพูดคุยถึงสิ่งที่เขากำลังทำ กำลังเล่นอยู่ ลูกจะจดจ่อกับการเล่นนี้ได้นาน หากทำบ่อยๆ สมาธิของเขาก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
การใส่ใจกับการเล่นของลูกจึงเป็นหนทางที่จะช่วยเพิ่มสมาธิให้ลูกได้ และยังส่งผลดีต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกด้วยค่ะ
การเล่นเพื่อยืดสมาธิลูก
กิจกรรม |
รายละเอียดกิจกรรม |
* เล่นฉายไฟ เล่นเงา |
* ชวนลูกเล่นสนุกกับความมืด โดยส่องไฟฉายไปที่ผนังให้ลูกดู หรือชวนกันเล่นเงารูปร่างต่างๆ การกำหนดสภาพแวดล้อมให้เหลือเพียงแสงและเงา เท่ากับว่าสีสันอื่นๆ ที่เร้าลูกถูกตัดออกไป มีเฉพาะเงาดำเท่านั้น เด็กจึงจดจ่อกับเงาที่เห็นเพียงอย่างเดียว ซึ่งเด็กๆ จะสนุกกับแสงและเงา ได้เรียนรู้ สังเกตเงาที่ยาว -สั้นจากการเล่นของตัวเอง ได้ใช้จินตนาการอย่างสูงเพื่อนึกภาพสัตว์ สิ่งของอย่างอิสระ โดยไม่ถูกสภาพแวดล้อมอื่นหันเหความสนใจไป |
* เล่นย่ำตามรอยเท้า |
* ใช้ชอล์กวาดรอยเท้าลูกสลับกันไปเหมือนรอยเท้ากำลังเดินประมาณ 10 รอย ระบายสีต่างๆ ลงไปบนรอยเท้า แล้วให้บอกสีลูกเดินตาม ลูกจะจดจ่อกับการเดินตามรอยเท้าตามสีที่คุณแม่บอก |
* แข่งต่อบล็อก |
* ชวนลูกแข่งต่อบล็อกกัน โดยคุณแม่ต่อก่อน (เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูก) จากนั้นให้ลูกต่อบ้าง เด็กวัย 1-3 ปี นั้นสามารถวางบล็อกเรียงกันได้ 3-6 ชิ้นโดยไม่ล้ม ซึ่งแรกๆ ลูกอาจจะยังวางไม่ได้ แต่เมื่อหลายๆ ครั้งผ่านไป เขาจะค่อยๆ เรียนรู้และจดจ่อเพื่อจะวางบล็อกให้ต่อขึ้นไปให้ได้ |