กรดโฟลิกกับลูกน้อยในครรภ์
view 10,344
กรดโฟลิก (Folic Acid) จัดเป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่ละลายได้ในน้ำ เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีบทบาทสำคัญในการแบ่งตัวของเซลล์ สร้างสมอง ไขสันหลังรวมทั้งกระดูกสันหลังของทารกในครรภ์
เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ ร่างกายความต้องการกรดโฟลิกเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นจำนวนประมาณ 2 เท่าของคนปกติ ซึ่งในขณะที่ร่างกายมีความต้องการกรดโฟลิกมากขึ้น กลับพบว่าในขณะตั้งครรภ์ลำไส้สามารถดูดซึมกรดโฟลิกจากอาหารได้ลดลงและมีการสูญเสียกรดโฟลิกทางปัสสาวะมากกว่าปกติ ทำให้พบการขาดกรดโฟลิกในสตรีตั้งครรภ์ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป
ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ขาดกรดโฟลิก จะเสี่ยงต่อการที่ลูกน้อยเกิดมามีสมองพิการ มีความผิดปกติของระบบประสาท เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อหุ้มไขสันหลังปิดไม่สนิทที่เรียกว่า Spina Bifida และภาวะทารกในครรภ์ไม่มีกะโหลกศีรษะ หรือมีความพิการที่แขนขา หัวใจ ปอด กระดูก มีภาวะโลหิตจาง ร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน เกิดแผลที่มุมปากชนิดที่เรียกว่า “ ปากนกกระจอก” ได้อีกด้วย คุณแม่ควรจะได้รับกรดโฟลิกให้เพียงพอก่อนการตั้งครรภ์ คือเริ่มตั้งแต่เมื่อคิดวางแผนจะมีลูก หรือก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน และรับประทานติดต่อไปถึงหลังตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน หรือจะรับประทานเรื่อยไปตลอดระยะตั้งครรภ์ก็ได้ค่ะ
อาหารที่มีกรดโฟลิกมาก ได้แก่ ผักใบเขียว บร็อกโคลี่ ตับ ถั่วที่มีสีเขียว มันฝรั่ง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ส้ม ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง นม และไข่ หากคุณแม่เป็นคนชอบผักอยู่แล้ว ก็ควรกินเป็นผักสดๆ หรือที่ผ่านการลวกเร็วๆ เพราะความร้อนจะทำลายกรดโฟลิกในผักใบเขียวได้ค่ะ หากคุณหมอตรวจพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดขาดกรดโฟลิก ก็อาจจะได้รับกรดโฟลิกในรูปของยาเม็ดมากิน ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่า ไม่ส่งผลข้างเคียงอย่างใด และไม่มีการสะสมในร่างกาย คุณแม่จึงสามารถรับประทานติดต่อเป็นเวลานานได้ โดยที่ร่างกายจะกำจัดส่วนเกินไปเองตามธรรมชาติ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องกรดโฟลิกให้มากนัก เพราะหากรับประทานแบบไทยๆ เช่น ส้มตำ แกงจืดผักกาดขาว แกงส้มผักกระเฉด อาหารแบบไทยๆ ก็มักจะมีโฟลิกสูงอยู่แล้ว อีกทั้งหากรับประทานผักสด ผลไม้ โดยเฉพาะผักใบเขียวเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าร่างกายจะขาดกรดโฟลิกอย่างแน่นอน อีกทั้งโรค Spina Bifida ก็ยังพบได้น้อยมากในคนไทย ดังนั้นหากคุณแม่ไม่ได้รับประทานโฟลิกมาก่อนการตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องกังวลอะไรมากค่ะ | ||