กิจกรรมพูดคุยกับลูก
view 4,652
ถ้าอยากให้เจ้าตัวเล็กพูดเร็วขึ้น สื่อสารกับเขารู้เรื่องได้เร็วขึ้น แม่อย่างเราก็ต้องหาวิธีคุยกับลูกบ่อยๆนะคะ ด้วย 7 กิจกรรมน่ารักน่าคุยที่เราขอแนะนำค่ะ
- ได้ยินไหมเอ่ย (แรกเกิด – 3 เดือน)
เริ่มจาก : หาของเล่นที่มีเสียงเขย่าให้ลูกฟัง แล้วสังเกตดูสิว่าเจ้าตัวเล็กหันมามองหรือเปล่า ถ้าหันมาตามเสียง สบายใจได้เลยค่ะว่าลูกเรามีพัฒนาการการได้ยินปกติดี
ดีอย่างไร : เด็กแรกเกิดจะมีระบบการได้ยินที่ดีมากนะคะ เหมือนๆ กับการสัมผัสด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นประสบการณ์จะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาแยกแยะเสียงที่แตกต่างกันได้ อย่างเสียงดังกับเงียบ เสียงสูงเสียงต่ำ หรือเวลาเราทำเสียงเล็กๆ คุยกับลูก ลูกมักจะสนใจมากกว่าทำเสียงเรียบๆโดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนแรก เจ้าตัวเล็กจะหาต้นกำเนิด เสียงได้ทำให้เขาเริ่มจับเสียงต่างๆที่อยู่ รอบตัว อย่างเสียงคนคุยกัน สำเนียงภาษาต่างๆ ก็แปลว่าเขาจะเรียนรู้ได้หลายภาษาถ้าได้ยิน ทุกวัน
- ร้องเพลงกล่อมลูก (แรกเกิด – 6 เดือน)
เริ่มจาก : ก่อนอุ้มเจ้าตัวน้อยไปนอน ให้คุณแม่อย่างเรานี่แหละค่ะเป็นนักร้องเสียงทอง ร้องเพลงกล่อมนอนให้ลูกฟัง
ดีอย่างไร : มีงานวิจัยมาแล้วนะคะว่า เพลงกล่อมนอนฝีมือคุณแม่และเสียงที่พ่อแม่คุยกับเขาอย่างอ่อนโยน หรือแม้แต่เสียงหัวเราะฮิฮะ หยอกเย้ากันระหว่างพ่อแม่ลูก จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา เป็นการเตรียมความ พร้อมให้เจ้าตัวเล็กในเรื่อง การพูด การใช้ภาษา และช่วยพัฒนาการด้านสังคมและ อารมณ์ให้ลูกด้วยค่ะ
- ลูกจ๊ะ...ลูกจ๋า (แรกเกิด – 6 เดือน)
เริ่มจาก : คุยกับลูกบ่อยๆ นะคะ อย่าง เรียกชื่อลูก สัมผัสเบาๆ ที่ตัวลูกระหว่างคุยกัน และแสดง ท่าทางประกอบคำพูด เช่น “อาบน้ำ...อุ๊ย...หนาวจัง” “นมนี่..ร้อนๆ”
ดีอย่างไร : จะเป็นการช่วยให้เจ้าตัวเล็กของเรามีพัฒนาการทางภาษาไปพร้อมๆ กับ การได้ยิน เสียง เด็กๆ จะค่อยๆ จำคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เขาได้ยินและจากที่เขาได้เห็นทุกวัน วิธีนี้ยังช่วยเสริม พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ให้เขาด้วยนะคะ
- ส่งเสียงทักทาย (3-6 เดือน)
เริ่มจาก : เวลาเราส่งเสียงทักทายเจ้าตัวเล็กของเรา อย่าง “จ๊ะเอ๋” “สวัสดีจ๊ะ...ลูก” ฯลฯ ก็อย่าลืมทำหน้าตา ทำปากล้อเลียน เช่น ทำปากจู่ อ้าปากหาว แลบลิ้นไปด้วย
ดีอย่างไร : วิธีนี้จะทำให้เจ้าตัวเล็กส่งเสียงอ้อแอ้เลียนแบบเราได้ ช่วยพัฒนาด้าน ภาษาของลูกเขาจะได้เริ่มขยับปาก ทำหน้าตาเหมือนเรา และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ด้านความคิดและสติปัญญาของลูกไปด้วยในตัว
- เล่นเรียกชื่อ (3-6 เดือน)
เริ่มจาก : จับลูกนั่งเล่นที่นั่ง แล้วเราก็จับส่วนต่างๆ ของลูก แล้วเรียกชื่อไปด้วย อย่าง “นี่จมูกของชมพู่” “นี่แก้มก็น้องโอ้ต” แล้วทำแบบนี้ซ้ำๆ กันเรื่อยๆ
ดีอย่างไร : เจ้าตัวเล็กจะได้รู้ว่าตัวเองชื่ออะไร และเริ่มรู้ว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายเขา เรียกว่า อะไรกันแน่ เป็นการช่วยพัฒนาการด้านภาษา ความคิดและสติปัญญาของลูก ด้วยค่ะ
- นี่คือ “หนังสือ”จ๊ะ (3-6 เดือน)
เริ่มจาก : สอนลูกให้รู้จักคำว่า “หนังสือ” อย่างเช่น ก่อนนอนก็อ่านหนังสือให้ลูกฟัง แล้วให้เขา ลองแตะ สัมผัส จับหนังสือพลิกไปมา เขาจะได้คุ้นเคยกับหนังสือมากขึ้น
ดีอย่างไร : ถ้าแม่อย่างเราสอนให้รู้จักหนังสือตั้งแต่เด็ก แค่หยิบหนังสือพลิกไปมา หรือถ้าเจ้าตัวเล็กถึงกับกัดเคี้ยวหนังสือ โยนทิ้ง หรือเอาหนังสือไปนอนกอดด้วย ก็ปล่อยให้เขาทำไปเลยนะคะ จะได้ช่วยให้เขาคุ้นเคยกับหนังสือมากขึ้น และจะทำให้ ลูกกลายเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือตอนโตด้วยค่ะ
- อ่านหนังสือให้ลูกฟัง (3-6 เดือน)
เริ่มจาก : หาหนังสือที่เป็นนิทานหรือมีคำคล้องจองให้ลูกฟังวันที่ลูกดูอารมณ์สดใส ร่าเริง สบายๆ หรือจะตอนอาบน้ำ (หนังสือลอยน้ำ) ไม่ก็ก่อนนอนก็ได้ค่ะ
ดีอย่างไร : จริงๆ แล้วการอ่านออกเสียงมีความสำคัญพอๆ กับที่พ่อแม่อย่างเราคุยกับลูกได้เลยนะคะ เพราะการอ่านจะมีโครงสร้างของรูปประโยคต่างๆ ที่เราใช้ในการ สื่อสารอยู่แล้วซึ่งก็จะช่วย ให้ลูกรู้จักสังเกตและเรียนรู้การใช้ภาษาที่ถูกต้องค่ะ เวลาแวะไปร้านหนังสือยอดคุณแม่ก็อย่าลืมซื้อหนังสือประเภทโคลง กลอน คำสัมผัส หนังสือ ที่มีรูปภาพสีสันสดใส ติดมือกลับบ้านมาบ้างนะคะ ว่างๆ จะได้หยิบอ่านให้เจ้าตัวเล็กฟัง เพราะหนังสือที่ว่าจะทำให้เจ้าตัวเล็กสนใจฟังได้มาก แล้วเจ้าตัวเล็กของเราก็จะได้มีพัฒนาการด้านภาษาสังคม อารมณ์ความคิด และสติปัญญาที่ดีตามมานั่นเองล่ะค่ะ