ลูกเอาแต่ใจ จะทำไงดี
view 10,536
เมื่อเจ้าตัวน้อย เริ่มเดินได้คล่อง วิ่งได้เร็ว และเริ่มสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ ปัญหาหนึ่งที่จะตามมาก็คือ เจ้าตัวน้อยจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น บางรายถึงขั้นไม่ยอมฟังคุณพ่อคุณแม่และกรีดร้องทุกทีที่ถูกขัดใจ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากแม้ลูกจะสื่อสารรู้เรื่องแล้ว แต่ทักษะด้านการใช้เหตุผล และรับรู้อารมณ์ตนเองของเจ้าตัวน้อยยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้บ่อยครั้งการแสดงออกของลูก จึงดูเหมือนว่าเจ้าตัวดีที่เคยน่ารัก กำลังกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่รับมือกับหนูน้อยเอาแต่ใจวัย 1-3 ปี อย่างถูกวิธีแล้ว ในที่สุดเจ้าตัวน้อยก็จะกลับมาเป็นลูกน้อยที่น่ารักได้ดังเดิมค่ะ
ตั้งกฎให้ชัดเจน
ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าตัวน้อยกลายเป็นเด็กขี้วีน ส่วนหนึ่งก็อาจมาคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้ตั้งกฎระเบียบต่างๆ ในบ้านให้แน่ชัด เช่น คุณอาจจะยอมให้ลูกกระโดดโลดเต้นบนโซฟา ขณะที่คุณกำลังวุ่นกับการทำงานบ้าน แต่พอคุณนั่งดูโทรทัศน์ แล้วเจ้าตัวน้อยลุกขึ้นมาเด้งดึ๋งบนโซฟา คุณก็กลับต่อว่าและห้ามไม่ให้ลูกทำอย่างนั้น ซึ่งความไม่ชัดเจนของพ่อแม่ลักษณะนี้เอง ที่ทำให้เด็กๆ เกิดความสับสน ไม่เข้าใจการห้ามปราบของคุณ จนไม่ยอมทำตาม ยิ่งหากคุณใช้อารมณ์ด้วยแล้ว ลูกก็จะต่อต้าน และอาจถึงขั้นส่งเสียงแผดร้องและขว้างปาข้าวของได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกฎร่วมกันว่าสิ่งใดที่ทำได้ สิ่งใดที่ทำไม่ได้ และเมื่อใดก็ตามที่ลูกฝ่าฝืนกฎ ก็ควรพูดคุยด้วยเหตุผลแทนการใช้อารมณ์ค่ะ
ไม่ตอบสนองพฤติกรรมก้าวร้าว
เมื่อใดก็ตาม ที่เจ้าตัวน้อยเกิดแผดเสียง โยนข้าวของขึ้นมา นั่นเป็นเพราะว่าหนูน้อยกำลังเรียกร้องความสนใจค่ะ และหากว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจเมื่อลูกมีพฤติกรรมเช่นนี้ ก็จะทำให้เขาเข้าใจไปว่า สิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และได้รับความสนใจ และในที่สุดเจ้าตัวน้อยก็จะนำวิธีนี้มาใช้อีก หากลูกแผดเสียงเพื่อเรียกร้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณควรทำให้ลูกเข้าใจว่าเขาจะไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการหากไม่หยุดพฤติกรรมดัง กล่าว ด้วยการพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงปกติ ว่า “ถ้าลูกไม่หยุดร้อง ลูกก็จะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ” หรือ “ถ้าหยุดแผดเสียงเมื่อไร แม่ถึงจะคุยด้วยนะจ๊ะ” แม้ว่าเสียงกรีดร้องของลูกอาจจะทำให้คุณควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เช่นกัน แต่ต้องไม่ลืมว่า เด็กๆ มองดูผู้ใหญ่เป็นแบบอย่าง หากคุณระงับอารมณ์ได้ดี ไม่เพียงแต่ลูกจะเลิกพฤติกรรมก้าวร้าวเท่านั้น แต่หนูน้อยยังค่อยๆ เรียนรู้วิธีการระงับอารมณ์จากคุณพ่อคุณแม่ด้วย
ชมเชย
การพูดชม เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมจะช่วยเป็นแรงเสริมทางบวกให้ลูกเรียนรู้ว่าการ กระทำที่ดีๆ นั้นเป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะทำให้เจ้าตัวน้อย เรียนรู้และพัฒนาความคิดเชิงเหตุผล และเรียนรู้ว่าการแผดเสียงร้องอาละวาดนั้น ไม่ได้ทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ในทางกลับกันหากลูกน้อยเชื่อฟังและควบคุมอารมณ์ได้ดี ก็จะได้รับคำชมจากคุณพ่อคุณแม่ ในที่สุด เจ้าตัวน้อยก็จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้ และกลายมาเป็นเด็กน้อยที่น่ารักดังเดิม
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจด้วยว่าพฤติกรรมเอาแต่ใจไม่เชื่อฟังนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของพัฒนาการ ซึ่งหากพ่อแม่วางแผนรับมืออย่างดีแล้ว ในที่สุดพฤติกรรมเหล่านี้ของลูกก็จะหายไป ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่อย่าถอดใจยอมแพ้ไปกลางคันเสียก่อนเท่านั้นเอง